วานนี้ (5 เม.ย.2563) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ. ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยา ลัยมหิดล
บอกตามตรงว่า วันนี้รับทราบข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 102 คนด้วยความกังวลใจอยู่พอสมควร รวมแล้วมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 2,169 คน
ถามว่าทำไม? ในเมื่อแนวโน้มช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นดูลดลง ซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ว่ามาตรการต่างๆ ที่ทุกคนช่วยกันทำมานั้นดูได้ผลดีระดับหนึ่ง
วันก่อนเพิ่งนำเสนอไปว่า ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในระยะสั้นของไทยนั้น ขั้นต่อไปคือมุ่งที่จะเสริมความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้แตะเส้น 10% ให้ได้โดยเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์ถัดจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเตียงไอซียูไม่เพียงพอ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
ตอนนี้เรามีคนไข้หนักที่ต้องนอนแอดมิทในไอซียูอยู่เกือบๆ 100 เตียง โดยเราเหลือจำนวนเตียงที่จะรองรับได้อีกไม่มาก แต่ขอไม่เปิดเผยตัวเลขทุกหน่วยงานพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อจะขยายเตียงไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยหนักให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้
อ่านข่าวเพิ่ม ไทยติดเชื้อเพิ่ม 102 คน ป่วยในกรุงเทพฯ แตะ 1,000 คน
แต่ต้องเข้าใจกันด้วยว่า การขยายเตียงไอซียูนั้น ไม่ใช่แค่หาพื้นที่ หาเตียง หาเครื่องมือเครื่องไม้อย่างเครื่องช่วยหายใจ และหยูกยาเท่านั้น สิ่งที่เป็นปัญหาหนักคือ เรามีบุคลากรแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยหนักจำกัดมาก ถึงมีเตียงมีอุปกรณ์แต่คนดูแลไม่พอ ยังไงก็ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้
ตามที่วางแผนกันอย่างเต็มที่ เราพอจะขยายเตียงและเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยหนักได้บ้าง ตามกำหนดจะขยายได้ภายในปลายเดือนนี้และปลายเดือนหน้า เพราะต้องจัดเตรียมสิ่งต่างๆ มากมาย
ดังนั้นตอนนี้รัฐบาลและประชาชนจึงต้องช่วยกันซื้อเวลาให้ระบบสาธารณสุขของเราสามารถจัดเตรียมการขยายให้ได้ทัน
ภาพ:เฟซบุุ๊ก Thira Woratanarat
ถามว่าจะต้องซื้อเวลาอย่างไร?
ขอตอบชัดๆ อย่างนี้ครับ โดยเฉลี่ยแล้วคนไข้หนักจนต้องนอนไอซียู เรามีราว 5%ถัดจากนี้ไปถ้าจะกดให้แตะเส้น 10% โดยให้ปริมาณผู้ป่วยไม่เกินกว่าความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราต้องไม่ให้จำนวนเคสสะสมเกิน 3,000 คนใน 10 วันถัดจากนี้ หรือ ณ ช่วงสงกรานต์นั่นเอง
กล่าวคือ คงจะดีมาก หากมีเคสติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยไม่เกิน 88 คนต่อวันซึ่งเป้าหมายนี้ดูจะท้าทายมากทีเดียวแต่หากจะอนุโลมให้มีทางเลือกได้บ้าง ผมคงจะคาดการณ์และแนะนำว่า หากไม่เกิน 100 คนต่อวันติดต่อกันไปอีก 2 สัปดาห์ เราจะแตะเส้น 10% ได้ และคิดว่ายังพอบริหารจัดการทรัพยากรในระบบเพื่อดูแลคนไข้หนักได้อยู่
หนทางที่จะทำได้ ไม่ว่าจะทางเลือกแรกในอุดมคติ และทางเลือกที่สองที่พอจะเป็นไปได้นั้น ต้องอาศัยมาตรการเพิ่มเติมจากรัฐ และความร่วมมือจากประชาชนอย่างเต็มที่ครับ
รัฐบาลควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ดังนี้
- ปิดสนามบินทั่วประเทศ ขยายจากเดิม 3 วัน ไปเป็นถึงปลายเดือนเมษายน
- ขยายเวลาการห้ามออกจากเคหะสถาน จากเดิม 22.00-04.00 น.ไปเป็น 18.00-04.00 น.
- พิจารณาประกาศหยุดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่บัดนี้ถึง 19 เม.ย.2563 เหลือเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ต่อการดำรงชีพ เช่น อาหารการกินและน้ำดื่ม และบริการสาธารณะ เช่น สื่อสาร รักษาพยาบาล พลังงาน การเงิน
- ปิดกั้นการเดินทางระหว่างจังหวัด ยกเว้นการขนส่งสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ และผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ
- กวดขัน ตรวจสอบ และรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนที่ออกนอกบ้านช่วงกลางวัน ต้องใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และจัดหาหน้ากากให้ประชาชนให้เพียงพอ
- จัดเตรียมจุดแจกอาหารและน้ำดื่มให้แก่ผู้ยากไร้หรือได้รับผลกระทบจากโรคระบาด พร้อมกับจัดหาที่พักชั่วคราวให้แก่คนไร้บ้าน พร้อมจัดอุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอ
- ประสานความร่วมมือกับเอกชนที่มีหรือกำลังจัดตั้งโรงงานหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยในการกระจาย แจกจ่าย สู่ประชาชนทุกพื้นที่ โดยเริ่มจากกทม. และในเขตเมืองของจังหวัดที่มีการระบาดหนัก
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิด หรือฝ่าฝืน
สำหรับประชาชนนั้น ต้องขอวิงวอน และขอให้มีกำลังใจสู้กันอย่างเต็มที่ โดย#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ#ดูแลสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิดให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม #ออกจากบ้านยามจำเป็นเท่านั้น
#หากออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย1เมตร
#เป็นหูเป็นตาคอยสังเกตสังคมรอบตัวหากมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้แจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง #แบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันแก่โรงพยาบาลหากมีเหลือใช้#ช่วยเหลือชุมชนแออัดและคนยากไร้ตามกำลังที่พอมี
...ไทยต้องทำได้ครับ...เป็นกำลังใจให...เราสู้ไปด้วยกัน!!!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มหาดไทยสั่งทุกจังหวัด เตรียมมาตรการรองรับยกระดับ COVID-19