ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอทวีศิลป์" ชี้คุมคนเข้าไทยไม่ได้ เสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์

สังคม
5 เม.ย. 63
13:02
1,457
Logo Thai PBS
"หมอทวีศิลป์" ชี้คุมคนเข้าไทยไม่ได้ เสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์
สธ.วิเคราะห์ผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากควบคุมไม่ดีเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์

วันนี้ (5 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. - 4 เม.ย.2563 รวม 20 คน อัตราการป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.97 อายุต่ำสุด 35 ปี สูงสุด 84 ปี เป็นชาย 18 คน หญิง 2 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 50 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 35 โรคไตเรื้อรังและไขมันในเลือดผิดปกติ ร้อยละ 15

ผู้เสียชีวิตมีความเชื่อมโยงจากสนามมวย 5 คน, เดินทางกลับจากต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อังกฤษ ปากีสถาน รวม 5 คน, อาชีพเสี่ยง ได้แก่ ขับรถสาธารณะ ร้านอาหาร และพนักงานขายของ รวม 5 คน, สัมผัสผู้ป่วย 2 คน และเชื่อมโยงสถานบันเทิง สถานพยาบาล และสถานที่แออัด อย่างละ 1 คน ซึ่งมีการกระจายตัวมากที่สุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

 

สำหรับอัตราการป่วยตายจำแนกตามเพศและอายุ ดังนี้ ผู้ป่วยชาย 1,124 คน เสียชีวิต 18 คน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 1.6 ผู้ป่วยหญิง 874 คน เสียชีวิต 2 คน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.2 โดยปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิต กลุ่มอายุ 50-69 ปี เสียชีวิต 9 คน เชื่อมโยงจากการไปต่างประเทศและพิธีทางศาสนา 4 คน อาชีพเสี่ยง 2 คน สถานที่แออัด 1 คน สถานพยาบาล 1 คน สนามมวย 1 คน ส่วนกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 8 คน เชื่อมโยงสนามมวย 4 คน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2 คน อาชีพเสี่ยง 1 คน เดินทางไปต่างประเทศและสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 1 คน

กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในช่วงอายุ 50-59 ปี มีอัตราการป่วยตาย 2.9% ส่วนกลุ่มอายุ 70-79 ปี มีอัตราการป่วยตาย 10.5% และกลุ่มอายุ 80-89 ปี มีอัตราการป่วยตาย 16.7% จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเน้นย้ำว่าอย่าเข้าใกล้ผู้สูงอายุและให้เว้นระยะห่างภายในบ้าน เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

คุมคนเข้าประเทศไม่ได้ หวั่นเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงลักษณะทางระบาดวิทยาของคนไทยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยได้เน้นย้ำเชื่องโยงเหตุการณ์สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต้องมีการจัดการอย่างเข้มงวด เพราะหากไม่สามารถคุมคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19

ถ้าใครที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ คุมได้ไม่ดีเพียง 1-2 คน จะกระจาย แล้วก็เกิด ไม่อยากใช้คำว่าซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่มันมีบทเรียนกันมาแล้ว

พร้อมกล่าวขอบคุณคนไทย 158 คนที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา และได้เข้ามารายงานตัวจนครบตามกำหนดเมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine ต่อไป

 

ขณะที่ตัวเลขของผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ มีจำนวน 249 คน มาจากยุโรป จำนวน 85 คน มาเลเซีย 49 คน อินโดนีเซีย 44 คน กัมพูชา 26 คน ปากีสถาน 14 คน ญี่ปุ่น 10 คน สหรัฐอเมริกา 9 คน และอื่นๆ 12 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงาน และร่วมพิธีทางศาสนา

ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แม้จะมีการตรวจวัดไข้ตั้งแต่ต้นทาง หรือมีใบรับรองแพทย์ แต่มติของทางการแพทย์ยืนยันว่า แม้ก่อนมาจะมีการกักตัวแล้ว 14 วัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน เพื่อความมั่นใจและไม่มีความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ แม้ผู้ที่เดินทางจะมีอายุไม่มากก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 102 คน ป่วยในกรุงเทพฯ แตะ 1,000 คน

98 คนไทยจากมาเลเซีย-การ์ต้าเข้ากักตัวแล้ว มีไข้ 1 คน

ยันต้องสำรอง “ฟาวิพิราเวียร์” ถึงล้านเม็ด วอนอยู่บ้านลดผู้ติดเชื้อ

คนไทย 158 คน ทยอยรายงานตัวพื้นที่ต่างจังหวัด - กักตัว 14 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง