วันนี้ (4 เม.ย.2563) จากกรณีผู้โดยสาร 152 คนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วานนี้ (4 เม.ย.2563) และไม่ได้เข้ารับการกักตัวในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐจัดให้ 14 วัน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และ กพท. ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (EOC) ในส่วนของพื้นที่การคัดกรองด้านใน เจ้าหน้าที่จากสาธารณสุข และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย สามารถจัดการดูแลพื้นที่ได้ แต่เมื่อออกมาด้านนอกเพื่อนำผู้โดยสารไปกักตัวตามมาตรการนั้น จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารฝ่ายความมั่นคง เข้ามาบัญชาการเหตุการณ์
ศูนย์ EOC จำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการ ประสานความร่วมมือมากขึ้น และให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง เพื่อการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
ปลัดกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงขอให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้โดยสารที่เดินทางปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อไวรัส COVID-19
กพท.ออกประกาศชัดเจน ช่วยผู้โดยสารค้างท่อ
ส่วนกรณีสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. มีการออกประกาศไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์ จากต่างประเทศเดินทางเข้าไทยจนถึงวันที่ 6 เม.ย.นี้ เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งถือว่าเป็นผู้โดยสารที่ค้างท่อ แต่ทั้งหมดก็ต้องเข้ามาตรการการกักตัว 14 วัน
หลังจากนี้ กระทรวงต่างประเทศ โดยสถานทูตในต่างประเทศ งดออกเอกสารรับรองให้เดินทาง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 15 เม.ย.2563 ระหว่างนี้เชื่อว่าจะไม่มีเที่ยวบินหรือผู้โดยสารที่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยจากต้นทางได้แล้ว
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ก่อนการประกาศห้ามเครื่องบินเข้าไทย เป็นเวลา 3 วัน จะมีเที่ยวบินเข้าไทยประมาณวันละ 20-25 เที่ยวบิน โดยในจำนวนนี้เป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) วันละประมาณ 5 เที่ยวบิน
ทั้งนี้ หลังจากมีประกาศแล้ว จะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินที่เข้าไทยไม่มากนัก และการออกประกาศที่ชัดเจน จะทำให้สายการบินตัดสินใจยกเลิกทำการบินมาไทยชั่วคราว ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมโรค