วันนี้ (3 เม.ย.2563) รศ.พญ.สิริธร วัชรานานนท์ อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงความคืบหน้างานวิจัยฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากาก N95 โดยระบุว่า ในช่วงการระบาดของโรคทุกคนก็ต้องการใช้หน้ากาก ทางทีมวิจัยจึงได้ศึกษาวิธีการเพื่อให้หน้ากกา N95 สามารถนำกลับมาใช้ได้
ความสำคัญของหน้ากากอนามัย เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื่องจากเป็นการแพร่ผ่านทางเดินหายใจ สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้มีความเสี่ยง ใช้หน้ากากผ้าได้ แต่ในกรณีบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีความจำป็นต้องใช้หน้ากาก N9T เพราะมีความเสี่ยงสูง จากการใกล้ชิดและสัมผัสผู้ป่วย
ผศ.นพ.มล.ทยา กิติยากร อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อศึกษาวิธีการฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยพบว่าวิธีฉายแสง UV และใช้เครื่องอบร้อนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
การวิจัยในครั้งนี้ต้องการทดลองเพื่อประเมินว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้หรือไม่ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนใบหน้าได้ไหม และไม่ทำลายประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย N95
สำหรับการใช้เครื่องอบร้อน ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยว่าการอบร้อนสามารถฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ หากมีอุณหภูมิและเวลาที่เพียงพอ แต่ทีมวิจัยได้ทดสอบเพิ่มเติมว่าควรใช้เครื่องอบร้อนอย่างไร เพื่อไม่เป็นการทำลายประสิทธิภาพของหน้ากาก N95
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
การทดลองในครั้งนี้ ใช้เครื่องอบจานอบร้อนหน้ากากอนามัย N95 นาน 240 นาที หรือ 4 ชั่วโมง เมื่อขยายใหญ่ภาพหน้ากากอนามัย 1, 000 เท่า พบว่าไม่มีความแตกต่างของเส้นใยและโครงการของหน้ากากแทบไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น สรุปว่า การอบร้อนด้วยอุณหภูมิเกิน 65-75% นาน 240 นาที หรือ 4 ชั่วโมง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของหน้ากาก
ส่วนกรณีการฉายแสง UV ทีมวิจัยได้ซื้อเครื่องที่มีขายในท้องตลาดมาทดสอบ โดยฉีดเชื้อโรคเข้าไปในหน้ากาก N95 เพื่อนำมาทดลอง ซึ่งพบว่า การฉายแสง UV เป็นเวลา 20 นาที สามารถฆ่าเชื้อ COVID-19 ได้ โดยไม่ทำลายเส้นใยของหน้ากากอนามัย N95
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ หากทำทั้ง 2 วิธีรวมกัน คือ อบร้อน 50 นาที ฉายแสงอีก 11 นาที ก็สามารถฆ่าเชื้อ COVID-19 ในหน้ากากได้เช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 วิธี เมื่อนำมาทดสอบฆ่าเชื้อแล้วพบว่า ประสิทธิภาพของหน้ากากหลังฆ่าเชื้อยังใช้ซ้ำได้ ตัวเส้นใยไม่มีปัญหา โครงสร้างก็ยังดีอยู่และยังกันเชื้อโรคได้เหมือนเดิม
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อตรวจสอบว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่ พบว่า มีแบคทีเรียบางตัวยังไม่ตาย และพบว่าส่วนใหญ่แบคทีเรียแอบอยู่ในช่วงรอยพับของหน้ากาก ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียที่เกิดขึ้นบนใบหน้า ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อทดสอบความแรงของแสง UV ในตำแหน่งต่างๆ ของเครื่อง พบว่า หากจะฉายแสง UV ควรตั้งให้อยู่ใกล้ตรงกลางหลอด UV มากที่สุดจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม่ควรมีแสงสะท้อนหรือมีสิ่งใดมาบดบัง
แนะใส่ถุงกระดาษเก็บหน้ากากอนามัยก่อนนำมาฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ ผศ.พญ.ดรุณี โชติประสิทธิ์สกุล อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังระบุว่า ในส่วนของความร้อนในการอบต้องมั่นใจว่าสูงถึง 65 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรเกิน 70 องศาเซลเซียส และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป เพราะอาจทำลายเส้นใยของหน้ากากเสียหายได้
ส่วนในแง่แสดง UV หลอดพลังงานอาจไม่เท่ากัน หลอดที่ทดสอบมีขนาด 4 วัตต์ แต่หลอดอื่นๆ อาจสูงถึง 30 วัตต์ การฆ่าเชื้อด้วยแสง UV จึงต้องประเมินจาก 3 ปัจจัย คือ กำลังหลอดไฟ ระยะวางหน้ากาก และระยะเวลาในการฉายแสง โดยเฉพาะมุมอับ เช่น จุดที่มีรอยพับ อาจต้องพยายามวางให้แสง UV ฉายได้ทั่วถึงทุกส่วน
ขณะนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เริ่มนำร่องให้บุคลากรทดลองฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย N95 แล้ว โดยการจะเก็บหน้ากากอนามัยเพื่อมาฆ่าเชื้อนั้น ไม่ควรเก็บไว้ในถุงพลาสติก ต้องเก็บหน้ากากไว้ในถุงกระดาษ หรือถุงที่ระบายความชื่้นได้ และควรล้างมือและใส่ถุงมือทุกครั้งหลังจับหน้ากากอนามัย
จากการทดลองพบว่า ประสิทธิภาพที่จะสามารถกลับมาซ้ำได้อยู่ที่ 8 ครั้ง แต่ควรสังเกตว่าเมื่อใส่ N95 แล้วหายใจสะดวก หรือยางที่รัดหูหย่อน แสดงว่าไม่สามารถใช้ได้แล้ว เพราะไม่มีประสิทธิภาพ
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข