วันนี้ (3 เม.ย.2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 ของกระทรวงต่างๆ
สำหรับกระทรวงพลังงานได้พิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม ทั้งการลดค่าครองชีพของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมีมาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
ด้วยการให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (ร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
การลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม ,การช่วยเหลือผู้ประกอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน โดยลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมาย ,ขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลวและสนับสนุนการเพิ่มปริมาณการจัดเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันต่างๆ
นางนฤมลกล่าวต่อว่า เร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ในเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา และผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่ไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิต 53 แท่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือบริการ จากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย โดยหารือกับผู้รับสัมปทานและกรมเจ้าท่า
การจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อป้องกัน COVID-19 ให้ประชาชนทั้งประเทศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงพลังงานจะขอรับการจัดสรรงบกลาง ประมาณ 220 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อแอลกอออล์แปลงสภาพสำหรับฆ่าเชื้อส่งให้ทุกจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ
การจำหน่ายแอลกอฮอล์ทำความสะอาด โดย ปตท.จะนำร่องที่ PTT Station โดยจำหน่าย แอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก และใช้ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ขนาด 1 ลิตร ต่อ1 ขวด ในราคา 110 บาท โดยเริ่มจำหน่ายในวันที่ 4 เม.ย.
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ การดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เสนอ รองรับปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ มุ่งเน้นสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญคือ หน้ากากทดแทน N95 ที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง
รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจ ห้องตรวจแยกโรคแรงดันลบ โดยมีโครงการต้นแบบไว้แล้ว และการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาวัคซีนสำหรับ COVID-19 สำหรับการดำเนินงานในส่วนชุดตรวจ ก็ได้มีการพัฒนาชุดตรวจมาตรฐานโดยหน่วยงานต่างๆ
นอกจากนี้ยังสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กำหนดกรอบงบประมาณดำเนินการ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,000 ล้านบาท และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประมาณ 1,000 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการที่หน่วยรับ
งบประมาณเสนอแผนฯ มา มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับเป้าหมายตามมาตiการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวน 3,726.6216 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.58 ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้
จำแนกเป็นการดำเนินการตามมาตรการฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จำนวน 3,182.4625 ล้านบาท และบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 544.1591 ล้านบาท
ประกอบด้วยมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19) จำนวน 3,182.4625 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 3,043.7622 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 138.7003 ล้านบาท
มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวน 544.1591 ล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 162.7433 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 381.4158 ล้านบาท