วันนี้ (3 เม.ย.2563) นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ที่ จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และพบว่าเป็นพนักงานขับรถไฟ แขวงดีเซลรางกรุงเทพฯ ประจำโรงงานรถดีเซลรางกรุงเทพฯ
เช้าวันนี้ได้มีการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าว โดยได้สอบประวัติพนักงานที่เสียชีวิตย้อนหลังไป 14 วัน จากเพื่อนพนักงานของผู้เสียชีวิต เพื่อให้ทราบช่วงเวลาว่า พนักงานคนดังกล่าว ได้ใกล้ชิดสัมผัสใครบ้างที่จะต้องเข้าข่ายให้ต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข
จากการพูดคุยเบื้องต้นกับเพื่อนพนักงานที่เสียชีวิตพบว่า มีพนักงานรถไฟที่เข้าข่ายทำงานร่วมกันประมาณ 10 คน ยังไม่รวมบุคคลในครอบครัวและผู้คนที่ผู้เสียชีวิตไปเจอนอกเวลางาน ก็เชื่อว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้
ขณะที่การปฏิบัติงานของผู้เสียชีวิตยืนยันว่า หน้าที่ของพนักงานขับรถไฟ ไม่ได้พบปะกับผู้โดยสาร โดยจะเจอเฉพาะพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในหัวรถจักร ส่วนการที่นายวีระศักดิ์ ได้เข้าพักที่พักชั่วคราวของพนักงานรถไฟระหว่างปฎิบัติงาน (รันนิ่ง) ที่ จ.นครราชสีมา และมีการระบุว่า ที่พักเป็นสถานที่แออัด อาจทำให้เกิดการระบาดในพนักงานรถไฟที่เข้าพักในรันนิ่ง นั้น
นายศิริพงศ์กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด และรฟท.เดินรถน้อยลงไปมาก ที่พักในรันนิ่งก็ไม่ได้มีการเป็นอยู่ที่แออัด