ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัดผล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สยบ COVID-19

สังคม
3 เม.ย. 63
11:52
250
Logo Thai PBS
วัดผล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สยบ COVID-19
เป็นครั้งแรกที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้รับมือโรคระบาด แข่งกับการรับมือตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาการขอความร่วมมือประชาชน การขาดแคลนสินค้าจำเป็นและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สุดท้ายแล้วกฎหมายนี้จะช่วยสยบโควิด-19 ได้จริงหรือ

“เราเพิ่งจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาไม่กี่วันนี้ ผลของการติดเชื้อต้องใช้เวลา 5-7 วัน มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เราใช้สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ก็เชื่อแน่ว่าถ้าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้เกิดขึ้น แล้วทุกคนให้ความร่วมมือ มันจะส่งผลหลังประกาศ 7 วัน”

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 (ศบค.) หน่วยงานใหม่ภายใต้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมติคณะรัฐมนตรี 24 มีนาคม
นับเป็นครั้งแรกกับกฎหมายความมั่นคง ที่ถูกนำมาใช้รับมือโรคระบาด นอกเหนือจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อการควบคุมโรคไม่อาจทำได้ด้วยกฎหมายปกติ โดยเฉพาะการขอให้ทุกคนทุกฝ่ายงดหรือลดการเคลื่อนที่ ให้เว้นระยะห่างทางสังคม ท่ามกลางข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่า คนกลุ่มอายุ 20-59 ปี ในไทย เป็นพาหะนำโรคสูงถึง 80 % แต่กลับไม่แสดงอาการ และยังเดินทางไปทำงานหรือกิจกรรมสังคม เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อ

การรวมตัวกลุ่มใหญ่ (คลัสเตอร์) เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างสถานบันเทิง กิจกรรมทางศาสนา หรือการกักตุนซื้อของ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกๆ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเปลี่ยนจากหลักหน่วยสู่หลักสิบ

ขณะที่หลายครั้งมีสาเหตุต้นตอจากภาครัฐเอง เช่น การจัดชกมวย 6 มี.ค., มาตรการปิดสถานที่ของกรุงเทพมหานคร 21 มี.ค. หรือแม้แต่ความสับสนเรื่องการลงทะเบียนรับเงิน 5 พันบาท จนมีผู้คนไปรวมตัวหน้าที่ทำการธนาคาร 27 มี.ค.

หากรัฐตั้งเป้า 7 วันหลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ 1 เม.ย. จะได้เห็นทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง ซึ่งคงต้องผิดหวังและเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยไป ตราบที่ยังไม่สามารถสกัดการรวมตัวของประชาชนได้ในทุกกรณี

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ส่งสัญญาณชัดว่า ศบค.พร้อมยกระดับมาตรการ หากยังลดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้

สิ่งสำคัญคือเชื้อโรคมันไม่ได้ปิดกิจการทั้งกลางวันกลางคืน ก่อนจะไปถึงมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศ มีหลายอย่างที่เราสามารถจะทำได้ เรายังไม่ปิดประเทศ ไม่ปิดเมือง ไม่ปิดบ้าน ยังสัญจรไปมาปกติได้ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมแล้วตัวเลขยังพุ่งสูงขึ้น มันจะนำไปสู่การปิดประเทศ

แต่กฎหมายความมั่นคงนี้ มีมากกว่าควบคุมการเดินทางหรือห้ามออกนอกเคหสถาน ตามมาตรา 9 ข้อ 3 ยังกำหนดห้ามเสนอข่าวหรือข้อความผ่านสื่อ อันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เรื่องนี้กระทบต่อทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังอาจรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าสุดที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดนี้

 

หลังจาก รมว.พาณิชย์ ลงตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย พร้อมคำยืนยันว่ามีสินค้าในสต๊อกมากพอใช้ไปอีก 4-5 เดือน ผู้คนในไทยยังหาประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ไม่นับรวมสินค้าจำเป็นอื่น อย่างเจลล้างมือ หรือแม้แต่ไข่ไก่

ยิ่งมีภาพรัฐมนตรีไทย ทำพิธีรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากจากภาคเอกชนของจีน ก็เริ่มมีคำถามว่าสิ่งของที่ได้มานั้นถูกจัดสรรอย่างไร ถึงมือผู้ปฏิบัติอย่างเพียงพอหรือไม่ และเหตุใดบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงโรงพยาบาลหลายแห่ง ยังต้องประกาศขอรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันตัวจากประชาชน

“เราดูจากแนวโน้มการมีผู้ป่วยในประเทศไทย ผู้บริหารก็สั่งการให้สำรวจหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจหรือเตียง องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้กระจายของเหล่านี้ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน กองทัพ ทุกที่ต้องได้ของไป เมื่อคณะกรรมการพิจารณาดูแล้วเหมาะสมกับที่ขอมาและที่เราออเดอร์ไปหรือที่ต่างประเทศบริจาคมา

ส่วนเรื่องการบริจาคทางกระทรวงก็ไม่เคยห้ามโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะเปิดรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาขาด แต่เพื่อมีสต๊อกไว้ใช้” นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค

แม้ไม่มีกฎหมายความมั่นคง แต่การส่งเสียงร้องเรียนสู่สาธารณะของบุคลากรทางการแพทย์บางคน ก็ต้องทำท่ามกลางความไม่มั่นใจ ด้วยข้อจำกัดตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย

 

 

หากคำหวานที่ ศบค.สื่อสารสู่สาธารณะ สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสยบโควิดได้จริง หรือเพียงกวาดปัญหาซุกไว้ใต้พรม รอจนถึงวันปะทุขึ้นมา

ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ก็อาจไม่เพียงพอจะแก้ไขสถานการณ์ได้แล้ว

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง