วันนี้ (29 มี.ค.2563) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สปสช.ได้รับอนุมัติงบกลางจากรัฐบาล 3,260 ล้านบาท รวมกับงบ สปสช. อีก 1,020 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,280 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 แก่สถานพยาบาล
เป็นการจ่ายเพิ่มจากอัตราเดิม ตามรายการการจ่ายแบบ Fee Schedule หรือจ่ายตามเงื่อนไขรายการเพดานราคาที่กำหนด ครอบคลุม ค่าแล็บ ค่าชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ค่ายา ค่าห้องควบคุม และค่ารถส่งต่อ โดยขณะนี้ได้จัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายเสร็จเรียบร้อย รอเพียงรมว.สาธารณสุข ลงนาม
ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับชุด Screening test หรือชุดทดสอบเบื้องต้นนั้น อยู่ระหว่างรอความชัดเจนด้านวิชาการ แต่จากตัวเลขประมาณการณ์ผู้ป่วยแล้วคิดว่า สปสช.มีงบประมาณเพียงพอ
นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า ในกรณีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น จนต้องจัดสถานที่แก่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงนอกเหนือจากโรงพยาบาล เช่น ห้องแยกผู้ป่วยรวมหลายเตียง (Cohort ward) และโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงนั้น สามารถจ่ายได้ตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG และรายการ on top หรือการจ่ายเพิ่มเติม หรือในกรณีที่เป็นโรงแรม หรือ โรงเรียน ถ้าเป็นการดูแลรักษาภายในความดูแลของโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้โดยโรงพยาบาลแม่ และสำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home quarantine)
คาดว่าจะสามารถจ่ายได้จากระบบ Home health care/Home visit หรือการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน/การเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ซึ่งจ่ายจากงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่สามารถจ่ายได้ทุกสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน
นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวต่อว่า หลังจากนี้ สปสช.จะดำเนินการจัดทำข้อเสนอสำหรับ แนวทางการจ่ายชดเชยกรณี Home health care /Home Visit (การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน/การเยี่ยมบ้านผู้ป่วย) และกรณีที่โรงพยาบาลส่งไปแอดมิทหรือรักษาเป็นผู้ป่วยในที่โรงแรมต่อไป
รวมทั้งจะจัดทำระบบประสานเตียงและการสื่อสารสำหรับประชาชนโดย Call Center สายด่วน สปสช.โทร.1330 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเป็นศูนย์ประสานเตียงของโรงพยาบาลทุกสังกัดในพื้นที่ กทม. ในขณะนี้