ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันที่ไทยรู้จัก COVID-19

สังคม
28 มี.ค. 63
14:26
111,000
Logo Thai PBS
วันที่ไทยรู้จัก COVID-19
เป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นับตั้งแต่จีนประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ถึงวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 5 แสนคน

เมืองอู่ฮั่นของจีน จุดเริ่มต้น COVID-19

มีข้อมูลว่า การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่นหรือตลาดขายอาหารทะเลสด South China Seaboard เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จากนั้นการแพร่ระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยที่เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการ ไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

 

ทีมนักวิจัยสันนิษฐานว่าตัวนิ่ม หรือ ลิ่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เชื่อว่ามีสรรพคุณตามยาแผนโบราณและถูกลักลอบล่าเพื่อนำส่งขายในตลาดสัตว์ป่ามากที่สุดในประเทศจีน อาจเป็นพาหนะนำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากค้างคาวมาสู่คน เนื่องจากตัวนิ่มอาจได้รับเชื้อไวรัสจากการสูดหายใจมูลค้างคาวที่ตกตามพื้นดิน ขณะที่มันกำลังใช้ลิ้นตวัดกินมดและแมลง

ประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

• 12 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยหญิงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยคนแรก
กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ว่าพบนักท่องเที่ยวหญิงวัย 61 ปี สัญชาติจีน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อคนแรกนอกประเทศจีน

จากการสอบสวนโรค พบว่า เธอเดินทางออกจากเมืองอู่ฮั่น ถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 

2 วันต่อมาพบว่า เธอมีอาการเจ็บคอ มีไข้ หนาวสะท้าน และปวดหัว จากนั้นในวันที่ 8 ม.ค. เธอเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคความดันลบของสถาบันบำราศนราดูร ผลทดสอบหาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เป็นบวก

เมื่อทราบผลดังกล่าว ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรคได้ติดตามอาการผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง 40 คน และรวบรวมข้อมูลสำหรับติดตามผู้สัมผัสความเสี่ยงต่ำอีก 145 คน

ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. ชายไทยวัย 50 ปี ซึ่งขับแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับผลตรวจว่าติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เขารับผู้โดยสารชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นซึ่งมีอาการป่วยไปส่งโรงพยาบาล ถือว่า ชายคนนี้เป็นคนไทยรายแรกที่ติดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยไม่เคยมีประวัติเดินทางไปประเทศจีนมาก่อน

คนขับแท็กซี่ เข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูรและหายจากโรค กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

คนไทยจากอู่ฮั่นติดไวรัสกลับบ้าน

วันที่ 23 ม.ค. 2563  พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนครปฐม พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลใน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563

จากการตรวจสอบไข้และประวัติของผู้เข้ารับการรักษา เป็นหญิงไทย อายุ 73 ปี มีประวัติเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อช่วงปีใหม่ และในช่วง 14 วันหลังจากเดินทางกลับมาแล้ว เธอมีอาการไข้ หายใจเหนื่อย

ต่อมาวันที่ 4 ก.พ. พบว่าคนไข้รายนี้หายดีและกลับบ้านได้ นับว่าเป็นคนไข้รายแรกที่ติดเชื้อไวรัสจากเมืองอู่ฮั่นและเป็นคนไข้รายที่ 2 ที่หายจากโรคนี้

มีรายงานว่าพบคนไทยจากอู่ฮั่นติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายที่ 2  หลังจากรัฐบาลไทยรับคนไทยจำนวน 138 คน กลับมาจากเมืองอุ่ฮั่น ในวันที่ 4 ก.พ. โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย จากการตรวจคัดกรองพบว่า คนไทยทั้ง 138 คน มีสุขภาพดี

 

คนไทยทั้งหมดถูกพาตัวไปยังอาคารรับรอง กองเรือยุทธการ  ที่อ่าวดงตาล ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งจัดอาคารรับรองไว้ทั้งหมด 5 หลัง เพื่อกักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน

ต่อมาพบว่าคนไทยซึ่งประกอบอาชีพพ่อครัวอยู่เมืองอู่ฮั่น ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 8 ก.พ. 2563 และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี

นักท่องเที่ยวมาไทยพร้อม COVID-19

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า นับตั้งแต่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อชาวจีนคนแรกที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เป็นต้นมานั้น ช่วงระหว่างวันที่ 12-31 ม.ค. ยังพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น รวม 16 คน แบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 คน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และภูเก็ต จังหวัดละ 1 คน

ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยรายที่ 8  เป็นหญิงชาวจีน วัย 73 ปี ซึ่งพบการรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2563 มีอาชีพเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

ผู้ป่วยคนนี้เดินทางมาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2563  พร้อมเพื่อนและครอบครัวชาวจีน และพบกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่โรงแรมอีก 4 คน จากนั้นพากันไปเที่ยวตลาดโต้รุ่งหัวหิน ชายหาดหัวหิน และไปไหว้พระในอำเภอหัวหิน

ในเวลาต่อมา ชายไทยวัย 45 ปีซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่ให้กับผู้ป่วยรายที่ 8 ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขไทยให้เข้ามาตรวจเชื้อโควิด-19

ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุตรงกันว่า เขาติดเชื้อจากผู้โดยสาร จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวหิน

จีนปิดเมืองอู่ฮั่น ระงับสายการบินเข้าออก แต่ยังพบผู้ติดเชื้อจากเมืองอื่นของจีนในไทย

วันที่ 23 ม.ค. 2563  จีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นเพื่อเพิ่มมาตรการลดการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เที่ยวบินตรงจากอู่ฮั่นมาไทยหมดลงในวันที่ 24 ม.ค. 2563  กรมควบคุมโรคยกเลิกด่านคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น แต่ยังคงคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศจีนในเที่ยวบินอื่นๆ

 

ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. ถึง วันที่ 25 ก.พ. มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอื่นนอกจากอู่ฮั่น ดังนี้

- มาจากเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนจำนวน 1 คน

- มาจากเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน จำนวน 1 คน

- มาจากประเทศจีน ไม่ระบุข้อมูลว่าเมืองใด จำนวน 6 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 1 คน ที่ทำให้ผู้ใกล้ชิดซึ่งเป็นคนครอบครัวเดียวกัน ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 2 คน (ผู้ป่วยคนที่ 33 และ 35)

คนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวจีนติดโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

วันที่ 4 ก.พ. 2563 พบพนักงานขับรถรับจ้างไม่ประจำทางในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นชายไทยอายุ 70 ปี มีประวัติรับส่งนักท่องเที่ยวชาวจีน ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมายังสถาบันบำราศนราดูรเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 สภาพแรกรับใส่ท่อช่วยหายใจ ผลการวินิจฉัยเป็นวัณโรคและติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต่อมาผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตลงในวันที่ 23 มี.ค. 2563

วันที่ 8 ก.พ. 2563 ชายไทย วัน 35 ปี อาชีพพนักงานส่งเสริมการขายที่คิงเพาเวอร์ สาขาศรีวารี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พบผลตรวจติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จากการสอบประวัติผู้ป่วยพบว่า เขามีอาการไข้ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต่อมาในวันที่ 29 ม.ค. อาการดีขึ้น ชายคนนี้จึงกลับมาทำงาน

หลังจากนั้นพบว่าเขามีอาการป่วย จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งและแจ้งลางานกับต้นสังกัดด้วยโรคไข้เลือดออก ต่อจากนั้นในวันที่ 5 ก.พ.  จึงถูกส่งตัวไปสถาบันบำราศนราดูร และเสียชีวิตลงในวันที่ 1 มี.ค. 2563

ผู้ป่วยรายนี้ยังทำให้เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ติดเชื้อ COVID-19 แต่ภายหลังอาการหายดี กลับบ้านได้ และ เขายังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งประจำอยู่สถาบันบำราศนาดูรติดเชื้อไปด้วย ถือว่าเป็นเคสแรกที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ

ในพื้นที่เดียวกันยังพบคนไทยอีก 2 คนซึ่งทำงานเป็นพนักงานขับรถและพนักงานเสิร์ฟ ลักษณะงานมีการสัมผัสและใกล้ชิดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในไทย ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในวันที่ 25 ก.พ. และ 2 มีนาคม ตามลำดับ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ระบุว่าทั้งสองคนติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาจากเมืองใด

ไวรัสโควิด-19 ระบาดจากจีนไปประเทศต่างๆ ทำให้ผู้เดินทางนำเชื้อกลับมาไทย

ปลายเดือน ม.ค. 2563  โควิด-19 แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่นไปยังประเทศต่างๆ ประเทศญี่ปุ่นได้รับการรายงานว่าพบผู้ป่วยจากเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คนแรกในวันที่ 16 ม.ค. 2563

ประเทศเกาหลีใต้พบผู้ป่วยคนแรกในวันที่ 20 ม.ค. 2563

ฮ่องกงพบผู้ป่วยคนแรกในวันที่ 23 ม.ค. 2563

อิตาลีพบผู้ป่วยซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน  2 คนติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ขณะที่ประเทศสเปนพบผู้ติดเชื้อรายแรกในวันเดียวกัน ส่วนประเทศอิหร่านพบผู้ป่วยคนแรกในวันที่ 19 ก.พ. 2563

 

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางผ่านประเทศต่างๆ ดังนี้

- วันที่ 4 ก.พ. 2563 พบคนไทยสองคนเป็นหญิงวัย 43 ปี และชายวัย 49 ปี ได้รับเชื้อโควิด-19 หลังจากเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น  จากนั้น วันที่ 26 ก.พ. พบปู่กับย่าที่มีประวัติไปท่องเที่ยงเมืองฮอกไกโดของญี่ปุ่น และรับเชื้อโควิด-19 กลับมายังประเทศไทย ทำให้หลานวัย 8 ขวบซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันติดเชื้อไปด้วย จากนั้นคนไทยรายอื่นๆ ซึ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่นติดเชื้อโควิดเพิ่มเติมไปจนถึงกลางเดือน มี.ค. 2563 สรุปแล้วมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากญี่ปุ่นจำนวนทั้งหมด 11 คน

- วันที่ 5-10 มี.ค. 2563 พบคนไทยและชาวอิตาเลียนติดเชื้อโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากอิตาลี จำนวนทั้งหมด 7 คน

- วันที่ 5-22 มี.ค. 2563 พบคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศอิหร่านติดเชื้อโควิด-19 จำนวนทั้งหมด 3 คน

- วันที่ 6 มี.ค. 2563 พบชายชาวอังกฤษติดเชื้อโควิด-19 จากฮ่องกง เขาเดินทางจากเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังประเทศไทย แต่แวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง

- วันที่ 13 มี.ค. 2563 พบผู้ป่วยเป็นหญิงไทยวัย 27 ปี ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ผู้ป่วยรายนี้ทำให้คนไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 4 คน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวแต่ร่วมวงสังสรรค์ เที่ยวผับ ดื่มเหล้าด้วยกัน

- วันที่ 15 มี.ค. 2563 พบข้าราชการตำรวจ 1 คน ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากเดินทางกลับจากประเทศสเปน

มีข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. – 6 มี.ค. 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด บก.สปพ. จำนวนหนึ่งเดินทางไปราชการศึกษาดูงานที่ประเทศดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสนามบินกลายเป็นผู้ติดเชื้อ

สนามบิน นับเป็นด่านแรกที่ต้อนรับผู้เดินทางจากทั่วโลก และเป็นจุดแรกๆ สำหรับคัดกรองผู้ที่มีอาการบ่งชี้ว่าอาจมีเชื้อโควิด-19 กลายเป็นสถานที่เสี่ยงสำหรับผู้ทำงานในสนามบินในเวลาเดียวกัน

 

วันที่ 10 มี.ค. 2563 น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยมีรายงานว่า สาเหตุจากปัญหาการรับมือป้องกันเชื้อโควิด-19

ต่อมา ลูกสาวของผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โพสต์ข้อความยืนยันถึงการยื่นหนังสือลาออกของพ่อ โดยระบุว่า พ่อไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นในหลายกรณี เช่น กรณีแรงงานที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้หลุดด่านคัดกรองโรค รวมถึงกรณีหน้ากากอนามัยที่เจ้าหน้าที่สนามบินทำเรื่องเพื่อขอซื้อ แต่ไม่ได้รับโควตา ต่อมา น.ท.สุธีรวัฒน์ ระงับเรื่องการลาออกและกลับเข้ามาทำงานต่อ

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. 2563 มีผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิติดเชื้อโควิด -19 จำนวน 4 คน ได้แก่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 1 คน เจ้าหน้าที่ตรวจค้นสัมภาระผู้โดยสาร 1 คน และเจ้าหน้าที่บริการนักท่องเที่ยวจำนวน 2 คน

จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยก้าวกระโดด

• เกิดการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน ขยายการระบาดในไทยเป็นวงกว้าง

 

กลุ่มที่ 1 สถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร

วันที่ 12 มี.ค. 2563 เป็นจุดกระเพื่อมแรกของการระบาดภายในประเทศ หลังจากมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ไปพบปะสังสรรค์กันที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานคร ในตอนแรกทางกรมควบคุมโรคระบุว่าคนไทยกลุ่มนี้ได้รับเชื้อโควิด-19 จากเพื่อนชาวฮ่องกง

ต่อมาผู้ป่วยคนหนึ่งปฏิเสธว่าไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับชาวฮ่องกงและระบุว่าเป็นการติดเชื้อจากคนไทยด้วยกันเอง โดยไม่สามารถหาที่มาที่ไปของเชื้อไวรัสได้ พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลไม่ยอมประกาศให้สาธารณชนทราบว่าขณะนี้มีการติดเชื้อระหว่างคนไทยด้วยกันเองแล้ว ถึงแม้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศมาก่อน

กลุ่มที่ 2 สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน อ้อมน้อย

แม้วันที่ 4 มี.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการติดเชื้อ COVID-19 ถึง นายสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อให้ดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 โดยให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการแข่งขันกีฬา

แต่วันที่ 6 มี.ค. สนามมวยเวทีลุมพินี ยังคงจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ ชื่อว่า “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร” ซึ่งมีการจัดคู่มวยดังขึ้นชก 11 คู่ และแจกรถยนต์ 3 คัน ทำให้มีเซียนมวยและประชาชนเข้าชมเป็นจำนวนมาก

นายแมทธิว ดีน  นักแสดงซึ่งเข้าร่วมงานแข่งขันชกมวยได้รับผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 14 มี.ค. 2563 และจากนั้นในวันถัดมาก็พบผู้ติดเชื้อจากสนามมวยเวทีลุมพินีทั้งหมด 9 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เนื่องจากผู้เข้าชมและผู้เข้าแข่งขันมาจากหลายจังหวัด

กลุ่มที่ 3 ไปร่วมชุมนุมศาสนาที่มาเลเซีย

วันที่ 14 มี.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุว่า "ด่วนที่สุด" ขอให้ทุกคนช่วยประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลเพื่อติดตามคนไทยจำนวน 132 คน ที่เข้าร่วมงานชุมนุมศาสนา "Jhor Qudamak & Ulamak Malaysia 2020" ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วมงานชุมนุมดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 16 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อหลังจากไปร่วมงานชุมนุมนี้จำนวน 2 คน ที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส  จากนั้นยังมีรายงานผู้ติดเชื้อจากงานชุมนุมทางศาสนาฯ นี้อย่างต่อเนื่อง

วันที่ 27 มี.ค. 2563 ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 360  ซึ่งเป็นชายไทย อายุ 50 ปี จากจังหวัดนราธิวาสและไปชุมนุมทางศาสนาที่มาเลเซีย ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

ข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย
วันที่ 28 มีนาคม 2563 (12.00 น.)

จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 1,245 คน จากฐานข้อมูลกรมควบคุมโรค

#ผู้ติดเชื้อลักษณะกลุ่มใหญ่
กลุ่มสนามมวย 164 คน
กลุ่มสถานบันเทิง 80 คน
กลุ่มชุมนุมทางศาสนาที่มาเลเซีย 31 คน

#ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 131 คน
คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 78 คน
ต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 52 คน
เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 1 คน

#กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ 81 คน
อาชีพเสี่ยง 54 คน
ทำงานในสถานที่แออัด 22 คน
ปอดอักเสบระบุไม่ได้ 1 คน
ผู้มีอาการตามเกณฑ์ 4 คน

#บุคลากรทางการแพทย์ 11 คน

#กลุ่มสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง 215 คน
กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเดิม 204 คน
กลุ่มสัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 11 คน

#ระบุไม่ได้หรือรอสอบสวนโรค
ยังระบุสาเหตุไม่ได้ 25 คน
อยู่ระหว่างรอการสอบสวนโรค 507 คน

รวม

เสียชีวิต 6 คน

รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,139 คน

กลับบ้าน 100 คน

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม / ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง