วันนี้ (27 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ห้องทำงานภายในศาลากลางจังหวัดภูเก็ต หลังใหม่ถูกปรับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเตรียมพร้อมจะออกไปพักฟื้นที่บ้านได้ พร้อมจำลองสถานการณ์และสาธิตการนำผู้ป่วยจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมายังโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเมื่อรถพยาบาลนำผู้ป่วยมาถึงยังโรงพยาบาลสนามก็จะนำเข้ามาในตัวอาคารเพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่พยาบาลฯซึ่งจะอยู่ในห้องปลอดเชื้อโดยสื่อสารผ่านอินเตอร์คอม จากนั้นให้ผู้ป่วยไปพักยังเตียงเตียงผู้ป่วยที่มีการจัดเตรียมไว้
นอกจากนั้น ยังได้จำลองสถานการณ์ หากผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลสนามมีอาการน่าเป็นห่วงเนื่องจากหายใจติดขัด ทีมแพทย์ซึ่งสวมชุดปลอดเชื้อออกมาดูอาการก่อนที่จะพิจารณาส่งไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งจะมีการดำเนินการตามมาตรฐานและในการนอนบนเตียงผู้ป่วยจะมีกล่องพลาสติกใสครอบไว้ และนำขึ้นรถไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
พญ.บุษยา สันติศานติ์ แพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามภูเก็ต ระบุว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ มีด้วยกัน 110 เตียง เบื้องต้นจะใช้อาคารชั้นล่างจำนวน 40 เตียง ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมในส่วนของพื้นที่ชั้น 2 ไว้จำนวน 70 เตียงโดยแบ่งพื้นที่ชายหญิงแยกออกจากกัน และแบ่งพื้นที่การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเบาและพื้นที่ผู้ป่วย7วันหลังก่อนที่จะอนุญาตให้กลับบ้าน
แนวทางการดูแลผู้ป่วยจะเน้นผู้ป่วยที่มีผลการทดสอบเป็นบวก และมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่มีผลการทดสอบติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเอง และผู้ป่วยจะถูกส่งมาจากโรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต และถูกส่งมาจากโรงแรมที่เป็นสถานที่พักของผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังต้องสงสัย เพื่อมารับการดูแลและรักษาต่อ ที่โรงพยาบาลสนามจนกระทั่งผลตรวจเป็นลบ จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้และจะต้องเฝ้าระวังที่บ้านต่ออีก 14 วัน
สำหรับบุคลากรประจำ ณ โรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาลประจำ 24 ชั่วโมง ซึ่งในการดูแลจะใช้ระบบ VideoCall หุ่นยนต์ในการดูแลพร้อมวีดีโอเพื่อมอนิเตอร์ผู้เข้ารับการรักษาตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากผู้ป่วยต้องการจะพูดคุยมีการจัดจุดวิดีโอคอลในอัตรา 9 เตียงต่อ 1 จุด กรณีที่ผู้ป่วยเกิดมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลจะลงไปดูแลที่เตียงพร้อมทั้งมีการจัดทำระบบฉุกเฉิน และระบบส่งต่อผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์
และเพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ป่วยจะอนุญาตให้ดูโทรทัศน์และใช้โทรศัพท์มือถือได้แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยออกนอกตัวอาคาร
พญ.บุษยา กล่าวว่า ในการดูแลนั้นแพทย์และพยาบาลจะดูแลอยู่ในห้องปลอดเชื้อบริเวณชั้นที่ 1 ซึ่งจะแบ่งคนไข้เป็น 2 ส่วนคือผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง โดยโซนคนไข้เรียกว่าโซนติดเชื้อดังนั้นการจะเข้าไปดูแลทำการรักษาส่งอาหารและการทำความสะอาดบุคลากรทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันเชื้อตามมาตรฐานที่กำหนด และภายหลังจากดูแลผู้ป่วยแล้วจะกลับเข้าห้องที่จัดไว้สำหรับการถอดชุด เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรติดเชื้อ ขณะเดียวกันจะมีหุ่นยนต์ดินสอในการวัดไข้แจกยาและพูดคุยกับผู้ป่วยด้วย
นอกจากนี้ ห้องปลอดเชื้อจะมี TV Monitor สำหรับดูอาการผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนของขยะทั้งหมดที่ออกจากหอผู้ป่วยจะถือว่าเป็นขยะติดเชื้อซึ่งทางเทศบาลนครภูเก็ตจะมารับไปทำการกำจัดขณะที่เสื้อผ้าผู้ป่วยทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจะมารับไปดำเนินการทั้งนี้บริเวณตัวตึกทั้งหมดจะไม่อนุญาตบุคคลภายนอกหรือญาติของผู้ป่วยเข้าไปเยี่ยมเนื่องจากเป็นพื้นที่ติดเชื้อ
กระบวนการการรักษาพยาบาลกระบวนการที่ 1 คือ การ Monitor ผ่านระบบทีวีวงจรปิดการสื่อสารแบบ TwoWay ผ่านไมโครโฟนโดยผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ กระบวนการที่ 2 กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือต้องการการพยาบาลจะมีห้องที่ใช้สำหรับการพยาบาลดูแลรักษาฉุกเฉินสามารถใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อการดูแลพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเตียงขึ้นรถพยาบาลไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลสนามจะจัดตั้งเต็นท์บริเวณด้านนอกเพื่อตรวจผู้ติดเชื้อโควิดมีระบบเช็คเอกซเรย์สำหรับตรวจอาการผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ
พญ.บุษยา กล่าวว่า เหตุที่เลือกอาคารหอประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) จัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อต้องการให้ผู้ป่วยอยู่ในระบบที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเทได้ดี และห่างไกลจากชุมชนสามารถดูแลจัดการขยะและน้ำเสียได้ถูกสุขลักษณะ และมีจุดเด่นคืออากาศถ่ายเทได้ดีและมีห้องที่สามารถปรับปรุงเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคลากรได้
ทั้งนี้ จ.ภูเก็ต พบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 แล้ว 26 คน ขณะที่ วันนี้ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 91 คน รวมตัวเลขผู้ป่วยสะสม 1,136 คน อาการหนัก 11 คน อยู่โรงพยาบาล 1,034 คน กลับบ้านแล้ว 97 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิต 5 คน
อ่านข่าว : ถอดรหัส! ตายคนที่ 5 คนต่างจังหวัดป่วยเพิ่ม 52 จังหวัด
บุคลากรทางการแพทย์ตรังติดเชื้อ
เช่นเดียวกับ จ.ตรัง พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มรวมเป็น 3 คน คนแรกเป็นหญิง ซึงอยู่ในพื้นที่ อ.รัษฎา รับเชื้อมาจาก จ.ภูเก็ต อีก 2 คน เป็นหมอประจำโรงพยาบาลตรัง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณา หากผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอาจกระจายไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทั้ง 10 อำเภอ หรืออาจจะพิจารณาเลือกใช้โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 เป็นการเฉพาะ แต่ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากที่สุด
เกาะสมุยพบผู้ป่วยติดเชื้อคนแรก
นพ.คำรพ เดชรัตนวิไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ยืนยัน พบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 คนแรกเป็นชายชาวฝรั่งเศส วัย 49 ปี มีครอบครัว พำนักอยู่ที่ อ.เกาะสมุย และเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยกับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง สำหรับประวัติของผู้ป่วยคนนี้มีผู้ที่ใกล้ชิดและสัมผัส กับคนในครอบครัว 3 คน จากการตรวจสอบ ยังไม่พบมีอาการป่วยแต่อย่างใด
ฆ่าเชื้อครั้งใหญ่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่และตัวแทนชาว อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมกันทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่หรือบิ๊กคลีนนิ่ง ที่บริเวณตลาดจะนะ และพื้นที่โดยรอบเทศบาลตำบลจะนะ ด้วยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อให้พื้นที่นี้ปลอดเชื้อ COVID-19 เนื่องจากอ.จะนะ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 6 คน ทั้งหมดรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย โดยอาการป่วยอยู่ในระดับปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั่วโลกติดเชื้อ 5.2 แสนคน สหรัฐฯ ป่วยสูงกว่าจีน-อิตาลีแล้ว
เมืองหาดใหญ่เงียบเหงา คืนแรกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน