วันนี้ (27 มี.ค.2563) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ว่าไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 91 คน รวมตัวเลขผู้ป่วยสะสม 1,136 คน อาการหนัก 11 คน อยู่โรงพยาบาล 1,034 คน กลับบ้านแล้ว 97 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิต 5 คน
ทั้งนี้ผู้ป่วยยังเกี่ยวข้องสถานที่ หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 30 คน ได้แก่ สนามมวย 5 คน สถานบันเทิง 7 คน สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด 18 คน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยใหม่ 19 คน เดินทางจากต่างประเทศ 10 คนไทย 9 ต่างชาติ 1 คน ทำงานในสถานที่แออัด เกี่ยวข้องต่างชาติ 5 คน ได้แก่ ขับรถโดยสาร พนักงานเสริ์ฟ เจ้าของธุรกิจ และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอีก 4 คน
สำหรับกลุ่มผู้เดินทางจากอิตาลี วันนี้เป็นวันที่ 12 ของการเฝ้าระวังที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ ทั้ง 83 คน ทุกคนอาการปกติไม่มีไข้ โดยในวันนี้จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 3
สำหรับผู้เสียชีวิตชาวนราธิวาสอายุ 50 ปียังไม่ชัดเจนว่าไปร่วมในพิธีทางศาสนาที่มาเลเซียหรือไม่ ส่วนข้อกังวลของการฝังศพ ได้มีการออกแนวปฏิบัติจากสำนักจุฬาราชมนตรีแล้วว่าจะมีการทำพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ
ต่างจังหวัดพบคนป่วย 52 จังหวัด
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้กราฟพบผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะนี้พบแล้ว 52 จังหวัด โดยยกระดับมาตรการจังหวัดสำคัญและเมืองใหญ่ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนสงขลา นราธิวาส ยะลา ภูเก็ต ได้อนุญาตให้คนไทยเดินทางข้ามเข้ามาในไทยได้ ซึ่งผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย และผู้สัมผัสใกล้ชิดวันนี้ไม่พบป่วยเพิ่ม แต่มีผู้เสียชีวิตที่นราธิวาส 1 คนแต่ต้องคอยดูอีก 2-3 วันอาจจะจบในกรณีนี้
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าระดับแนวโน้มคาดการณ์ผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เม.ย.63 จากข้อมูลที่มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คาดว่าจะไปป่วยที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันจะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย หากทำมาตรการSocial Distancing ได้ร้อยละ 50 จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และหากทำได้ร้อยละ 80 จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 คน
ผู้ป่วยเสี่ยงคือ คนสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังและเด็ก
ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้นหากประชาชนยอมรับมาตรการของรัฐ และดำเนินการ Social distance การเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคม 90% จะหน่วงตัวเลขผู้ป่วยใหม่ ให้มีสถานที่รองรับและเตียงเพียงพอ รวมทั้งล้างมือบ่อย ๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์
ด้านนพ.ศุภกิจ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเชื้อ COVID-19 จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในร่างกายจนกระทั่งไปถึงจุดสูงสุด ระหว่างนั้นร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ หากร่างกายชนะเชื้อจะหมดไปในเวลาหนึ่ง แต่ภูมิคุ้มกันนั้น ในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเร็ว อยู่ได้ 1 ปี อยากชี้ว่าการวินิจฉัยต้องตรวจเชื้อ หรือ ANTIGEN และที่กำลังจะมีคือ ตรวจภูมิกัน ซึ่งทุกอย่างต้องตรวจในเวลาที่เหมาะสม 3-5 อาจยังไม่พบเชื้อ
ขณะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้การรับรอง 2 ชุด และมีเงื่อนไขอีก 2 ชุด จาก 5 ชุดตรวจ ส่วนที่ขอตรวจภูมิคุ้มกัน 17 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากราคาถูกและตรวจง่าย รับรองเพียง 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมกาาอาหารและยา (อย.) อีกขั้นตอน
ขอเตือนประชาชนว่าการตรวจ ไม่พบไม่ได้แปลว่าไม่ติด เพราะหากตรวจทันทีใน 1-2 วันแรกนับจากวันที่รับเชื้อจะไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้
ทั้งนี้การตรวจโดยไม่มีความเข้าใจ หากเป็นลบไม่ได้ติดเชื้อ แต่ต้องรอเวลา หรือหากตรวจพบ อาจไม่ได้แปลว่าแพร่เชื้อได้ เพราะอาจติดมาเป็นเดือนแล้ว
งานศพ-เลื่อนสังสรรค์
เช่นเดียวกับพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า Social Distance เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะคุมการแพร่ระบาดได้ แบ่งเป็นระดับบุคคล องค์กร สถานที่ ที่พักอาศัยที่ไม่ใช่บ้านเรือน และชุมชน ต้องดูแลสถานที่และคุมการแพร่เชื้อ อย่างน้อยต้องร่วมมือได้ 80%
แนะนำอย่างเข้มงวด ส่วนกลุ่มที่ยังคงเดินทาง ขอให้เป็นไปด้วยความจำเป็นเท่านั้น และลดพฤติกรรมความเสี่ยง ขอให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด งดสังสรรค์
ตอนนี้ขอให้อายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว หากมีอาการจะต้องประสานสาธารณสุขใกล้บ้าน ลดการเดินทาง หรือส่งมอบบริการไปถึงบ้านพัก โดยขอให้งดกิจกรรมในชุมชน และอยู่ในบ้านเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อครัวไทยในสหรัฐติด COVID- 19 เสียชีวิตคนที่ 2
ทั่วโลกติดเชื้อ 5.2 แสนคน สหรัฐฯ ป่วยสูงกว่าจีน-อิตาลีแล้ว