สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐออกมาตรการให้ประชาชนงดเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก
คลังเลือด รพ. ขาดแคลน
แต่ขณะเดียวกัน การที่ประชาชนให้ความร่วมมืองดเดินทางไปในสถานที่เสี่ยง และเน้นอาศัยอยู่ที่บ้านมากขึ้น ก็ทำให้จำนวนของผู้ที่ไปบริจาคเลือดตามโรงพยาบาล และศูนย์รับบริจาคลดน้อยลง
คลังเลือดกลางของโรงพยาบาลหลายแห่ง เริ่มขาดแคลนเลือดสำรอง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์รับผู้ป่วยวิกฤติ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ก่อนหน้านี้ มีผู้มาบริจาคเลือดเป็นประจำเดือนละกว่า 4,000-5,000 คน ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เริ่มงดเดินทางมาบริจาค หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ข้อมูลจากศูนย์คลังเลือดกลาง โรงพยาบาลขอนแก่น ระบุว่า ปกติจะมีผู้มาบริจาคเลือดอย่างต่อเนื่อง แต่ละวันจะได้เลือดประมาณ 200 ถุง (ถุงละประมาณ 400 ซีซี) แต่ปัจจุบันได้เลือดเพียงวันละ 50-60 ถุง
เดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม จำนวนเลือดรับบริจาค ลดลงลงกว่า 70 % เริ่มกระทบต่อการรักษา แต่ทางโรงพยาบาลยังสามารถจัดการได้โดยเน้นทำความเข้าใจให้ญาติผู้ป่วยเข้ามาบริจาคเลือดมากขึ้น และกรณีผ่าตัดเลือกจะเลือกผ่าตัดในเคสที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน
ขณะเดียวกันศูนย์คลังเลือดกลาง โรงพยาบาลขอนแก่น ได้เร่งเปิดศูนย์บริจาคเลือดเคลื่อนที่มากขึ้น ทั้งที่ศาลากลางจังหวัด และเตรียมปรับแผนไปเปิดจุดรับบริจาคตามชุมชน เป็นกลุ่มย่อยๆ ครั้งละไม่เกิน 50 คน แทนการเปิดรับบริจาคที่ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจะมีประชาชนมารวมตัวจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อ
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ภาครัฐเองต้องรับมือไม่ให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนเลือด ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการรักษาพยาบาล วันนี้ (20 มี.ค.2563) ทางจังหวัดจึงเปิดให้เจ้าหน้าที่ และข้าราชการทุกภาคส่วน ร่วมบริจาคเลือด พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมบริจาคเลือดมากขึ้น
ปัญหาคลังเลือดขาดแคลนยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสภากาชาดไทยได้เน้นรณรงค์ และสร้างความมั่นใจให้คนมาบริจาคเลือดเพิ่มขึ้น
คุมเข้มคัดกรองโควิด-19 ก่อนบริจาคเลือด
สาเหตุหลักที่ประชาชนไม่มาบริจาคเลือด เกิดจากความกังวลว่าอาจมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับมาตรการ เพิ่มความเข้มข้นในการคัดกรองผู้ที่มาขอบริจาค ต้องไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้ ยังไม่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในโลหิตบริจาค
นอกจากนี้ในขั้นตอนการตรวจ ก็จะให้ผู้บริจาคเลือด นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด เจ้าหน้าที่จะพยายามสัมผัสผู้บริจาคให้น้อยที่สุด และอุปกรณ์ทุกอย่างจะใช้ 1 ชิ้นต่อ 1 คน และนำไปฆ่าเชื้อก่อนที่จะใช้กับคนต่อไป
เอกชนร่วมกระตุ้นการบริจาคเลือด
นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้มีผู้เดินทางมาบริจาคเลือดมากขึ้น นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ได้เปิดใช้ห้องประชุม ชั้นที่ 2 ภายในโรงแรม เปิดเป็นห้องรับบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย ตั้งแต่ปี 2555 แต่ปีนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้บริจาคเลือดน้อยลง
นายชาติชาย ระบุว่า ในเดือนมีนาคมนี้ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 สภากาชาดไทย แจ้งว่าต้องการเลือดเพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล 80 แห่งใน 11 จังหวัด ภาคอีสานตอนบน จำนวน 4,000 ถุง แต่ขณะนี้เพิ่งได้เพียง 1,000 ถุงเท่านั้น ทางโรงแรมโฆษะจึงปรับแผนเร่งกระตุ้นให้ประชาชนที่เคยมาบริจาคเลือดรายเดิมกว่า 5,000 คน กลับมาบริจาค โดยให้พนักงานโทรสอบถาม ให้ข้อมูลสร้างความมั่นใจ รวมทั้งสามารถจองคิว กำหนดเวลาที่จะมาบริจาคได้ เพื่อลดความแออัด และไม่ต้องเสียเวลารอคิว
ด้านนายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ จ.ขอนแก่น ได้ร่วมบริจาคเลือด พร้อมยืนยันว่า เชื่อมั่นในมาตรการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ และขอให้ประชาชนเดินทางไปบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
โดยขอเชิญชวนบริจาคโลหิตได้ที่ห้องรับบริจาคโลหิตที่โรงแรมโฆษะ ชั้น 2 จันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น.
วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 09.00-15.30 น. หยุดวันอาทิตย์
หรือบริจาคที่โรงพยาบาลทุกจังหวัด สามารถแจ้งขอส่งต่อไปยัง ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จ.ขอนแก่น สอบถามโทรศัพท์ 043-389-389