วันนี้ (20 มี.ค.2563) อาจารย์เภสัชกร ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความเล่าหน้าที่การทำงานของเภสัชกรในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ผ่านเฟซบุ๊กเพจ ดร.แกง โดยระบุว่า "COVID-19 ระบาดแบบนี้ เภสัชกรทำอะไรกันอยู่ ?"
ช่วงโรคระบาดนี้ดูเหมือนเวลาที่แถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ประกาศมาตรการ หรือออกกฏหมายอะไรมา ไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า “เภสัชกร” เท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่านอกจากจะต้องตอบคำถามว่าทำไมไม่มีหน้ากากอนามัย ทำไมไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งยากจะตอบยิ่งนัก ก็ยังมีงานให้เภสัชกรทำแบบเงียบๆ อยู่หลากหลายบทบาท
โพสต์นี้มุ่งหวังให้นักเรียนมัธยมศึกษาที่กำลังอยากจะเรียนคณะเภสัชศาสตร์ และประชาชนทั่วไปที่ต้องใช้บริการที่ร้านยาได้เห็นว่า เภสัชกร อยู่ในจุดใดของระบบนิเวศการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่มันกว้างใหญ่ไพศาล ขึ้นกับว่าจะหยิบส่วนใดมาฉายไฟให้เห็นเด่นชัด สำหรับองค์กรหลักที่ดูแลเภสัชกรก็คือ สภาเภสัชกรรม
ภาพ : ดร.แกง
เภสัชกรที่ร้านยา
ด่านแรกที่ดูแลสุขภาพชุมชน แนะนำการดูแลสุขภาพ แนะนำการใช้เจลแอลกอฮอล์ การใช้หน้ากากอนามัย ดูแลการเจ็บป่วยเล็กน้อย หากไม่มีอาการเข้าข่าย COVID-19 ไม่มีความเสี่ยงมาก เจ็บป่วยเล็กน้อยควรพักผ่อน ลดการไปแออัดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เภสัชกรที่ร้านยาจะช่วยคัดกรองอาการเพื่อการส่งต่อ
ขณะนี้ไม่ได้มีค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาเหมือนในบางประเทศ รายได้มาจากการขายยาอย่างสมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกท่านเข้าใจและพิจารณาว่าเภสัชกรกับร้านยาจะอยู่คู่ชุมชนได้อย่างไร หากซื้อของต้นทุนมาในราคาแพงแล้วต้องขายขาดทุน หลายคนทำงานทุ่มเท
เภสัชกรโรงพยาบาล
ในภาวะปกติก็ทำงานหนักในการรับใบสั่งยา ตรวจสอบรายการยา ประสานรายการยา จัดยา และส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำเพื่อให้ท่านได้ใช้ยาถูก คือ ถูกคน ถูกโรค ถูกวิธี ถูกขนาด ถูกเวลา ถูกใจ และจะได้หายป่วย และในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาด แน่นอนว่างานต้องเพิ่มขึ้น เพราะเภสัชกรต้องร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแลจัดการคลังเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล ทั้งยาจำเป็น ยาหายาก หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ บางแห่งก็เร่งเครื่องมือผลิตยาสมุนไพร
เภสัชกรด้านการค้นคว้าวิจัยยาใหม่
คนที่ชอบงานเคมี ก็คงกำลังค้นคว้าหาโมเลกุลยาใหม่ หาสารสำคัญในสมุนไพร ตรวจสอบฤทธิ์ว่ามันจะพัฒนาต่อไปได้ไหม บางคนก็คงร่วมกับเพื่อนๆ ต่างวิชาชีพกำลังทำ Test kit ให้ตรวจจับเชื้อโรคได้อย่างแม่นยำ
เภสัชกรที่ชอบเทคโนโลยีชีวภาพ
กำลังร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ออกแบบการวิจัยทางคลินิกอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีข้อมูลในการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในมนุษย์ บางคนอยู่ในส่วนผลิตชีวเภสัชภัณฑ์หรือยาชีววัตถุที่มาจากเลือด (blood-derived biologics) ก็คงต้องทำงานมากขึ้นในช่วงนี้เพื่อตระเตรียมให้สอดคล้องกับอุปสงค์การใช้งานของประเทศ
เภสัชกรฝ่ายผลิต
ทั้งที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมยา องค์การเภสัชกรรม หรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร และฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล ก็คงกำลังเร่งสายพานการผลิตยาที่มีคุณภาพ และได้ปริมาณตามความต้องการใช้ ต้องควบคุมคุณภาพในทุกกระบวนการผลิตเพื่อให้มั่นใจว่ายาทุกเม็ด ยาทุกขวดที่ออกมาสู่ท้องตลาด เป็นยาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ประชาชนมั่นใจได้
เภสัชกรที่อยู่ฝ่ายขึ้นทะเบียน
ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อย. และสำนักงานสาธาณสุขจังหวัด ก็คงทำงานตรวจตราสินค้า วางเกณฑ์การแสดงข้อมูลในฉลาก อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้มีประชาชนได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัย ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดคำถามไม่รู้จบว่า เจลแอลกออล์ที่วางขายทำไมไม่มีฉลาก ทำไมไม่มีกลิ่น ทำไมใช้แล้วเหนียว ทำไมมันไม่ละลายหมึกพิมพ์เหมือนที่โซเชียลแนะนำ ทำไม ทำไม ไปเรื่อยๆ นั่นก็เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องในการบริหารจัดการวัตถุดิบ การขึ้นทะเบียนตั้งแต่ต้นทาง มาแก้ปัญหาปลายทางก็คงจะสายเกินแก้
ทั้งนี้ คงมีเภสัชกรอีกหลายคนที่ทำงานเงียบๆ เป็นแนวรบแถวหน้าในยามที่ประชาชนแตกตื่นกับการมาเยี่ยมอย่างกระทันหันของโควิค-19 ถึงแม้ว่าเภสัชกรในชุมชนและสายงานอื่นๆ จะไม่ใช่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามประกาศ ผมคิดว่าทุกท่านสามารถแสดงบทบาทนั่นได้ไม่ยากเพราะท่านต้องเจอกับประชาชนที่ร้านยา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ แนะนำวิธีการดูแลตนเอง ช่วยคัดกรองเบื้องต้นพร้อมให้คำแนะนำส่งต่อ สร้างคอนเทนต์โซเชียลที่ตอบโจทย์คนในชุมชน และให้บริการด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีครับ