ล่าสุด (18 มีนาคม 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ศัลยแพทย์ด้านศีรษะ คอ เต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune โดยได้ระบุว่า สัมผัสผู้ป่วย COVID-19 ไปหาหมอตรวจ ไม่พบเชื้อ มั่นใจว่าไม่ป่วยจริงไหม "ไม่จริง"
รศ.นพ.อดุลย์ ระบุว่า ช่วงนี้มีคำถามว่า คนที่สัมผัสผู้ป่วย COVID-19 ที่ตรวจยืนยันว่า พบเชื้อแล้ว จะเป็นผู้ป่วยด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ยัง แต่กรณีที่หลายคนไม่มีอาการ รีบไปหาหมอตรวจ และหมอบอกว่า ยังไม่พบเชื้อ แสดงว่าไม่ป่วยจริงไหม คำตอบคือ ไม่ เพราะยังมีโอกาสป่วยอยู่ เนื่องจากเมื่อสัมผัสโรคใหม่ๆ อาจจะยังตรวจไม่พบเชื้อได้ คนกลุ่มนี้ยังต้องกักตัวอยู่ การที่สัมผัสโรคและการที่หมอตรวจไม่พบเชื้อไม่ได้แปลว่า ไม่ติดโรค และจะไปไหนมาไหนได้เป็นปกติ แต่กลุ่มนี้ยังต้องกักตัว 14 วัน
ภาพ : บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune
ดังนั้น กรณีที่ดารา พิธีกร หลายคน พอรู้ตัวว่า สัมผัสผู้ป่วยก็รีบมาตรวจ และพอตรวจไม่พบเชื้อ ก็ขึ้นเฟซบุ๊กว่าไม่เป็นโรค นั้นไม่จริง แต่อาจแค่ยังไม่พบเชื้อ ยังต้องกักตัวดูอาการ 14 วัน จึงอยากฝากบอกต่อกันด้วย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด จะได้ไม่แพร่เชื้อโรค ผู้ที่สัมผัสโรค ถึงตรวจไม่พบเชื้อ ก็ต้องกักตัว 14 วัน
เลื่อนนัดหมอดีไหมในสถานการณ์ COVID-19
นอกจากนี้ รศ.นพ.อดุลย์ ยังได้เผยแพร่ข้อความแนะนำสำหรับประชาชนที่มีนัดพบแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า ยามที่ทั้งคนป่วย COVID-19 และคนไม่ป่วยต่างต้องไปเจอกันที่โรงพยาบาล จึงเป็นความเสี่ยง
สำหรับคนที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน คือ มีอาการไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดหัว ไอ ปวดท้อง แน่นหน้าอก หรือไม่สบายที่มีอาการกะทันหัน ควรไปพบแพทย์ จะเป็นที่คลินิก หรือโรงพยาบาลก็ได้ เพราะมีโรคหลายอย่างที่ต้องการการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นโรคที่เราเองมีประสบการณ์ และรู้สาเหตุ เช่น อาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารไม่สะอาดแล้วคลื่นไส้ ท้องเสีย หรือเป็นหวัด ภูมิแพ้ น้ำมูกไหล อย่างนี้สามารถรับประทานยาสามัญประจำบ้านดูก่อนได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์
ส่วนคนที่แพทย์นัดตรวจหลังผ่าตัด หรือ นัดฟังผลเจาะเลือด ผลตรวจชิ้นเนื้อ ควรพบแพทย์ กรณีที่เป็นการผ่าตัดเล็ก อาจจะขออนุญาตแพทย์เปิดแผลใกล้บ้าน และโทรฟังผลชิ้นเนื้อ ถ้าแพทย์คิดว่าจะเป็นต้องพูดคุยรายละเอียดผลตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม แพทย์จะบอกให้มาพบ ผลเลือด ผลเอ็กซเรย์ อาจจะปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ หรือ tele
ภาพ : บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune
ในส่วนของผู้ที่ต้องการฝากครรภ์ ถ้าเป็นครรภ์ปกติ ฝากกับใกล้บ้านก่อนได้ หากสงสัย อาศัยการส่งต่อ ขณะที่ผู้ป่วยโรคที่หมอยังต้องปรับยาอยู่ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคไต โรคตับ ต้อหิน มะเร็ง ฯลฯ ควรพบแพทย์ หรือ อย่างน้อยปรึกษาผลเลือดกับแพทย์ทางโทรศัพท์ หรือ tele
คนที่รับยาประจำ เช่น เบาหวาน ความดันสูงที่แพทย์ให้กินยาคงที่มานาน สามารถให้คนรับยาแทน หรือ ส่งยาไปรษณีย์ อาจจะเลื่อนนัดได้ 2-3 เดือน สำหรับคนที่ตรวจร่างกายประจำปี เลื่อนนัดได้ 3-6 เดือน หากก่อนหน้านี้ แพทย์ไม่พบความเสี่ยง
ทั้งนี้ เป็นเพียงแนวคิดคร่าวๆ เท่านั้น เชื่อว่าทั้งหมอและผู้ป่วยต้องปรับตัว ช่วยกัน ที่สำคัญ คนที่ต้องได้รับยาประจำ ไม่ควรขาดยา เพราะอาจจะทำให้โรครุนแรงขึ้นหากไม่ได้กินยาสม่ำเสมอ