วันนี้ (18 มี.ค.2563) สถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ปตท.พัฒนาชุดตรวจ COVID-19 ซึ่งเป็นชุดตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค CRISPR Diagnostic โดยก่อนหน้านี้ได้เริ่มทดสอบกับเชื้อ COVID-19 ของจริงที่โรงพยาบาลศิริราชมาระยะหนึ่งแล้ว และพบว่าได้ผลดี
ผศ.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ซึ่งเป็นผู้วิจัย อธิบายว่า วิธีการตรวจทดสอบ คือ การใช้สารคัดหลั่งบนทางเดินหายใจส่วนบน เพื่อวัดระดับสารพันธุกรรม เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อในปัจจุบัน แต่ใช้เวลาทดสอบและทราบผลได้ภายใน 30-45 นาที เร็วกว่าการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมง ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการจัดทำชุดอุปกรณ์ตรวจวัดทุกอย่างประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 475 บาท จากปัจจุบันที่มีต้นทุน 3,000-13,000 บาท
ขณะนี้ สถาบันฯ ได้สั่งสารเคมีจากต่างประเทศเพื่อผลิตเบื้องต้น 10,000 ชุด ก่อนขยายผลเป็น 100,000 ชุด เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชได้ใช้ชุดทดสอบแบบใหม่ ควบคู่กับการทดสอบแบบเดิม เพื่อเทียบประสิทธิภาพ หากได้ผลชัดเจน จะช่วยให้ไทยรับมือกับการระบาดของไวรัส ระยะที่ 3 ได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีราคาถูกมาก ใช้เวลาตรวจสั้น มีความไวสูง และผลิตได้เองภายในประเทศ
ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เวลาใช้เครื่องมือต้องมั่นใจในมาตรฐาน หากให้ผลเป็นบวกมากเกินไป หรือลบมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายกับประชาชน จึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน แต่ตอนนี้ได้เร่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจมาตรฐานคุณภาพและ อย.รับรอง ในไม่เกิน 2 สัปดาห์ ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 5 บริษัท
ทั้งนี้ การพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 มีทั้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ บริษัทพัฒนาสยามไบโอไซ และบริษัทเอกชนนำเข้า