ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไม่ปิดเมือง-ไม่ปิดประเทศ" นายกรัฐมนตรียันเดินหน้าสู้ COVID-19

การเมือง
17 มี.ค. 63
16:06
12,826
Logo Thai PBS
"ไม่ปิดเมือง-ไม่ปิดประเทศ" นายกรัฐมนตรียันเดินหน้าสู้  COVID-19
นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุม ครม. เดินหน้าสู้วิกฤต COVID-19 ยืนยันชัดไ ม่ปิดประเทศ-ไม่ปิดเมือง สั่งหยุดโรงเรียน สถาบันกวดวิชา 2 สัปดาห์ ส่วนสนามมวย สนามม้า ปิดจนกว่าจะคลี่คลาย ขณะที่ผับ สถานบันเทิง ปิด 14 วัน

วันนี้ (17 มี.ค.2563) เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ปัจจุบันถึงแม้ว่า ขณะนี้จะยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่ว่ามีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือเพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมมือในการประสานงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) ได้นำเรื่องมาเสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบและพิจารณาดำเนินการในด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสาธารณสุข 2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3.ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4.ด้านการต่างประเทศ 5.ด้านมาตรการป้องกัน และ 6.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติดังนี้

1. ด้านสาธารณสุข

"ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ (การห้ามเข้า-ออก)"


1.1 ป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย คือ
(1) ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย (4 ประเทศ + 2 เขตปกครองพิเศษ)
- ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน
- ต้องมีประกันสุขภาพ
- ยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ
- มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ
- ตม.ดูหนังสือเดินทางของชาวต่างประเทศด้วยว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดต่อโรคไหม แล้วแจ้ง มท.
- มาตรการกักกันของรัฐ ถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

(2) ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง (ยังไม่ประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย)
- ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน
- ต้องมีประกันสุขภาพ
- มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย
- ยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ
- มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ
- มาตรการกักกันของรัฐ ถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

(3) ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

1.2 พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็น หรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนัก ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
1.3 ให้มีการกำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้มีการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัว
1.4 จัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณเพียงพอสำหรับรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัรฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค
1.5 แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

2. ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน


- เร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน เจลแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุม ชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ
- นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนยฯ เพื่อกระจายต่อไป
- สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N 95 และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น และประสานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ
- ตรวจสอบการขาย On line การกักตุน และการระบายของสินค้า

3. ด้านข้อมูล


การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่
(1) กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข
(2) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

4. ด้านต่างประเทศ


การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ
-ให้ กระทรวงการต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ (Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีท่านทูตเป็นหัวหน้าทีม

5. ด้านมาตรการป้องกัน


ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยง
5.1 ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น


(1) สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

(2) สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก สัมผัสถูกเนื้อถูกตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่าย

- ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

(3) งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

“เพิ่มมาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่/สถานที่ที่ยังต้องเปิด”

5.2 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5.3 ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด

“ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค”

5.4 ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ได้แก่ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เม.ย.2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

5.5 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ และเพิ่มความถี่ของการเดินรถ

5.6 งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

5.7 ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและการทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ

“เพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น”

5.8 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และรายงานมาตรการที่จะดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทราบ และให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน

5.9 ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

6.ด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยา


6.1 กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ด้านการท่องเที่ยว ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ Lay Off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน

6.2 กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอ เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในระยะที่ 2 ต่อไป

6.3 ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิต เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น

6.4 สร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในช่วงทางต่าง ๆ ต่อไป

สรุป

ขณะนี้ ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์และชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุก ๆ ด้าน โดยถือว่าการแก้ไขปัญหา COVID-19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะได้ดำเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง
ด้านเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์ COVID ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับเพิ่มเติมมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง