วันนี้ (13 มี.ค.2563) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าการแพร่ระบาด COVID-19 โดยพบว่า ไทยมีผู้ป่วยเพิ่ม 5 คน เป็นการป่วยแบบกลุ่ม โดยพบเพิ่มจากกลุ่ม 11 คนเมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) 2 คน และเพิ่มจากกลุ่มที่ไปสังสรรค์ในสถานบันเทิงกับหญิงที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ 3 คน รวมป่วยสะสม 75 คน รักษาในโรงพยาบาล 39 คน อาการหนัก 1 คน กลับบ้านแล้ว 35 คน เสียชีวิต 1 คน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเริ่มพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และสัมผัสใกล้ชิดกัน สูบบุหรี่ หรือกินเหล้าแก้วเดียวกัน จึงขอให้คนที่เดินทางไปต่างประเทศปรับพฤติกรรมดูแลตัวเอง กักตัวที่บ้าน 14 วัน หลีกเลี่ยงสุงสิงกับคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด และไม่กินอาหารรวมกับคนอื่น
ขณะที่จีนพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง อาจพิจารณานำออกจากประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย ขณะเดียวกันเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มประเทศที่เฝ้าระวัง เช่น สเปน เยอรมนี สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่พบอัตราการแพ่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการ
ขอจีนสนับสนุนหน้ากากอนามัย
ปลัด สธ. กล่าวถึงความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรคว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือ มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการในเครือข่ายรัฐและเอกชน รวม 35 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน 20 แห่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1 แห่ง และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ 14 แห่ง นอกจากนี้ สธ.ขอสนับสนุนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จากจีน 180 ล้านชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 1 ล้านชิ้น เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
ขยายแล็บ 35 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยตรวจแล็บ 2 ส่วน คือ วินิจฉัย หรือคอนเฟิร์มเคส ขยาย 35 แห่งทั่วประเทศ ตรวจได้วันละ 4,000 เคส ส่วนการตรวจที่ใช้เวลาสั้น 15-30 นาที คือ ตรวจภูมิคุ้มกันร่างกาย และเสมหะในช่องคอเพื่อหาเชื้อไวรัส สามารถดำเนินการจำหน่ายชุดทดสอบได้ภายในสัปดาห์หน้า ค่าใช้จ่ายเหลือชุดละ 1,000 บาท
จ่อถกตัวเลขประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ และสมาคมฯ เห็นว่าไทยยังไม่เข้าเกณฑ์ COVID-19 ระบาดระยะ 3 หรือการกระจายของโรคในวงกว้าง นอกจากนี้การปลดประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย หรือเพิ่มประเทศใด จะพิจารณาจากหลักเกณฑ์จำนวนคนป่วย คนป่วยเพิ่ม และแนวโน้มป่วย ยืนยันว่ากรรมการวิชาการจะตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด
แนะร้านอาหารจัดที่นั่งห่าง 75 ซม.
นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 ด้วยการตั้งกรรมการระดับพื้นที่ ชุมชน คอนโด เพื่อตรวจวัดไข้ทุกคนที่เข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ เฝ้าระวังร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. นอกจากนี้ ขอให้ยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด อย่าเสียดายเงิน เพราะต้องกักตัว 14 วัน และเลิกจัดงานที่มีคนมากกว่า 100 คน รวมทั้งใช้หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้ช้อนกลาง หากไปในพื้นที่การแพร่ระบาดสูงขอให้แยกตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว และสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร ขอให้จัดที่นั่งห่างกันระยะ 75 เซนติเมตร รวมทั้งวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้านและแจกเจลแอลกอฮอล์
เพิ่มงบฯ เสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริภาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้บริหารได้จัดสรรงบฯ ค่าเสี่ยงภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทีมงานในโรงพยาบาล และทีมสอบสวนโรค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ทีมงาน แบ่งเป็น แพทย์เวรละ 1,500 บาท บุคคลากรอื่น เช่น พยาบาล เวรละ 1,000 บาท
ส่วนการพิจารณาทบทวนนำจีนออกจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายเป็นกลุ่มที่เฝ้ามองนั้น ล่าสุดพบตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเป็นหลักหน่วย แต่คณะกรรมการด้านวิชาการจะพิจารณาทุกสัปดาห์ โดยนัดประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 15 มี.ค.นี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว