ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 โมเดล คาดการณ์ 2 ปีเลวร้ายสุด ไทยอาจป่วยถึง 16.7 ล้านคน

สังคม
13 มี.ค. 63
14:36
90,710
Logo Thai PBS
3 โมเดล คาดการณ์ 2 ปีเลวร้ายสุด ไทยอาจป่วยถึง 16.7 ล้านคน
เปิด 3 โมเดลคาดการณ์สถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์เลวร้ายสุดภายใน 2 ปี อาจมีผู้ป่วยมากถึง 16.7 ล้านคน แต่หากควบคุมได้อาจมีตัวเลขแค่ 400,000 คน แต่นักระบาดวิทยา ชี้กทม.เสี่ยงหลังพบผู้ป่วยแบบกลุ่ม

วันนี้ (13 มี.ค.2563) สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งตัวเลขล่าสุดวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าประเทศไทย มีผู้ป่วยสะสม 75 คน โดยพบป่วยเพิ่มอีก 5 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดย 2 คน เป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย 11 คนที่ป่วยจากการสังสรรค์ ส่วนอีก 3 คน ติดเชื้อจากผู้ป่วยคนที่ 57 คน

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำการคาดการณ์การระบาด และมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ระหว่าง พ.ศ.2563-2564) โดยใช้เทคนิค compartmental model ที่ใช้การคาดการณ์การระบาด จากหลายสถาบันทั้งในประเทศจีน แคนาดา ฮังการี สวีเดน และ WHO โดยพิจารณาจากปัจจัย ความสามารถในการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปสู่คนอื่นๆ (R0)-ความมีฤดูกาลของโรค-สัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ (ร้อยละ 45 อ้างอิงจากข้อมูล เรือไดมอนด์พรินเซส)

ภายใต้สมมติฐาน คือ หากการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จะระบาดแบบระลอกเดียวจบ แต่หากการระบาดชะลอลงได้ในระดับหนึ่ง จะเห็นแนวโน้มการเกิดโรคเป็นฤดูกาล

คาดการณ์ 2 ปี เลวร้ายสุด ผู้ติดเชื้อ 16.7 ล้านคน

ผลการประเมินสถานการณ์ หรือ scenario แบ่งได้ใน 3 แนวทาง คือ 1.สถานการณ์ที่การควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ (รุนแรงที่สุด) นั่นคือ หากปล่อยให้การระบาด เป็นไปโดยธรรมชาติของโรค มีความพยายามที่จะชะลอการระบาดบ้าง แต่ไม่มากนักหรือไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (R0) ได้อีก 2.2 คน การระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป จนพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือน ส.ค. จำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 16.7 ล้านคนใน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้น่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในไทย เนื่องจากดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงกว่าที่คาดการณ์ได้ 3–4 เท่าแล้ว

 

 

สำหรับ scenario ที่ 2.สถานการณ์ที่สามารถชะลอการระบาดได้พอสมควร หากมาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการมีความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ทำให้ไทยสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้ใน ระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (R0) ได้เพียง 1.8 คน

การระบาดในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือน ม.ค.-ก.พ.2564 จำนวน 480,000 คนต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์นี้ ต้องลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลง เช่น การงดกิจกรรมรวมคน การกักกันเพื่อสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด

 

คาดการณ์อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ขณะ scenario ที่ 3.สถานการณ์ที่สามารถควบคุมโรคได้ดี จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (R0) ได้เพียง 1.6 คน เกิดการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี และกลายเป็นโรคประจำถิ่นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ มาตรการควบคุมโรค ในสถานการณ์นี้ต้องมีความเข้มข้น และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนให้ความ ร่วมมือเป็นอย่างมาก

โดยมีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลงให้ได้มากที่สุด เช่น การงดกิจกรรม รวมคน ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน งดการเคลื่อนย้ายคนในหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน รวมทั้งป้องกันและควบคุมการเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เช่น การระบาดใน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงงาน หรือในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

การคาดการณ์นี้ เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ บนพื้นฐานของข้อมูลธรรมชาติของ โรคและระบาดวิทยาที่มีในปัจจุบัน ยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยการป้องกันควบคุมโรค และการรักษา เช่น การงดการจัด กิจกรรมรวมคนจำนวนมาก การใช้ยา ยังต้องรอข้อมูลประสิทธิผลของการรักษา และวัคซีน ซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต หากมีข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมจะนำมาคาดการณ์อีกครั้ง

 

ภาพ:กองทัพเรือ

ภาพ:กองทัพเรือ

ภาพ:กองทัพเรือ

แพทย์ชี้ไทยต้องชะลอการระบาด 


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แบบคาดการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นแนวทางที่นักระบาดวิทยาทั่วโลกต้องประเมินสถานการณ์ โดยจากเส้นสีแดงเกิดขึ้นในประเทศอื่นแล้ว เช่น เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเกิดขึ้นครั้งแรกไม่ได้มีการเตรียมตัววางแผนได้ทัน เพราะเกิดเร็ว และระยะสั้น แต่ไทยมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซึ่งตอนนี้ผ่านมา 10 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เป็นไปตามแบบจำลองดังกล่าว

เทียบไทยกับอู่ฮั่นยังต่างกันมาก ไทยไม่ได้เกิดแบบนี้ ซึ่งแบบจำลองคาดการณ์แบบสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ตอนนี้ไทยเข้าสู่สัปดาห์ที่ 10 มีผู้ป่วยยืนยัน 75 คน และไม่น่าจะเป็นไปตามคาดการณ์ที่ระบุว่า 16.7 ล้านคนอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ยังประเมินว่าถ้าชะลอได้ ตัวเลขจะเหลือ 9.9 ล้านคน และถ้าควบคุมได้จะเหลือ 400,000 คน และการเกิดโรคจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ ถ้าควบคุมได้ดี จะป่วยไม่มาก และตอนนี้ไทยยังอยู่ในระดับเส้นสีฟ้า ถ้าตัวเลขไม่พุ่ง ก็จะเป็นเส้นสีเขียว คือเหตุการณ์แบบนี้ จะเหมือนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 แต้องมีการปรับเป็นโรงพยาบาลสนามให้เต็มศักยภาพ ต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามระดับอาการความรุนแรง 

 

ส่วน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลการคาดการณ์ เป็นการพูดคุยกันในห้องทีมวิชาการของศูนย์ต่อต้าน COVID-19 ถ้าเผยแพร่ออกหรือส่งต่ออกไป และขาดการสื่อสารที่ชัดเจนจะทำให้เกิดความตกใจ แต่จะใช้โอกาสนี้ไม่ให้เกิดขึ้นตามการคาดการณ์นี้

ดัชนีที่ชี้ว่าสถานการณ์ระบาดยังรับมือได้คือ จำนวนผู้ป่วยที่ค้นพบ จะเป็นดัชนีสำคัญ โดยตอนนี้มี 40 คนที่ยังป่วย และอีก 35 คนที่หาย และกลับบ้านแล้ว

ส่วนปัจจัยเรื่องการติดต่อกันแบบกลุ่มก้อนกรณีเคส 11 คนพื้นที่การระบาดใน กทม.แล้ว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การเดินทางในช่วงวันหยุดยาวนี้ เกิดขึ้นน้อยสุด เพื่อลดการระบาด

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อทบทวนประเทศเขตติดโรค COVID-19 หลังจีนป่วยรายใหม่ลดลง

"กรมอนามัย" ออกประกาศป้องกัน COVID-19 สถานที่ราชการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง