วันนี้ (12 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล COVID-19 พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแถลงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19
นายเทวัญ ยืนยันว่าไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ระบุว่า COVID-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลกและในวงการทางการแพทย์ โดยไทยได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์แล้ว ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงยังไม่ใช่ผู้ป่วย ขอให้ญาติและคนรอบข้างให้กำลังใจ เพื่อจะทำให้เขาผ่านพ้นการกักตัว 14 วันผ่านไปด้วยดี พร้อมเรียกร้องให้บุคคลที่อยู่ในช่วงการกักตัว 14 วันมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง สังคมและประเทศชาติ
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงกรณีปิดศูนย์ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในทุกจังหวัดเมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ว่า ขอโทษประชาชนหากการสื่อสารทำให้เข้าใจความหมายผิด ยืนยันว่ายังไม่มีการปิดศูนย์ฯ และคงไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต เช่น รพ.บางขุนเทียน โดยปรับวิธีการดูแลกลุ่มเสี่ยง ย้ายไปเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน ที่บ้านพักตามภูมิลำเนา
ผมไม่แน่ใจว่าการสื่อสารของผมอาจจะไม่ดี แต่ยืนยันว่าไม่มีการปิดศูนย์ฯ ทั้งสิ้น ถ้าสื่อสารไม่ถูกต้อง ก็ต้องขอโทษด้วย
การเฝ้าสังเกตอาการในบ้านตามภูมิลำเนา จะเป็นไปตามอัตภาพและมีพี่น้องครอบครัวดูแล โดย สธ.ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมและลงโทษได้ อีกทั้งชุมชนร่วมดูแลใช้ความร่วมมือ ไม่ใช่การบังคับ มั่นใจว่าจะได้รับความสะดวกสบาย และเกิดประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เข้าตรวจสอบ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการรายงานสุขภาพทุกวัน เช่น แอพพลิเคชั่น หลังพบว่าศูนย์ฯ ดูแลบางแห่งไม่มีความพร้อม และประชาชนบางจังหวัดต่อต้าน
บางเรื่องออกมาดูไม่เหมาะสม ไม่สะดวกสบาย แต่เป็นความพยายามที่เขาจะแก้ปัญหา COVID-19
นพ.รุ่งเรือง ยืนยันว่าเป็นการปรับวิธีดูแลกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เน้นอยู่ในสถานที่เหมาะสม เช่นที่บ้าน, ทำตามคำแนะนำ สธ. ใส่หน้ากากอนามัย แยกสำรับอาหาร, ติดต่อได้ทุกวัน, หากเริ่มมีอาการป่วยต้องไปโรงพยาบาลทันที และกรณีที่มีศูนย์ฯ ไว้ เพราะบางคนไปทำงานต่างประเทศเป็นเวลานาน กลับมาไทยแล้วไม่มีบ้านพัก หรือไม่สะดวก หรือมีความเสี่ยงมาก จะให้อยู่ในศูนย์ฯ ยืนยันว่าทำถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งมีทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้นำชุมชน เข้าไปให้ความรู้และวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม