วันนี้ (12 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้องฟ้าบริเวณวัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งจุดนี้สามารถมองเห็นพรมแดน แม่สาย และท่าขี้เหล็ก สภาพอากาศวันนี้ค่อนข้างปิด มีฝุ่นควันที่คาดว่าเกิดจากไฟป่าปกคลุมทั่วทั้งเมืองทั้งสองเมือง
กรมควบคุมมลพิษ รายงายสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ใน 17 จังหวัด เมื่อเวลา 10.00 น. มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 44-258 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่นละอองในพื้นที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) 16 พื้นที่ และสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) 5 พื้นที่ ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย และ อ.เมือง) จ.เชียงใหม่ (ต.ช้างเผือก อ.เมือง) จ.พะเยา และสูงสุดที่ จ.แม่ฮ่องสอน (ติดตามคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ air4thai.com)
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สาเหตุที่ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ลมตะวันตกเฉียงใต้/ใต้กำลังปานกลาง-อ่อน พัดหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อากาศไม่ยกตัวในตอนเช้า การระบายฝุ่นละอองอยู่ในระดับน้อย-ปานกลาง ไม่มีฝน ทำให้มีการสะสมตัวของฝุ่นละออง โดยพบจุดความร้อนเพิ่มจำนวนในภาคเหนือ พบมากที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.แพร่ และ จ.พะเยา และจุดความร้อนในเมียนมายังคงมีจำนวนสูงต่อเนื่องทำให้ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน ตอนบนของ จ. เชียงใหม่ และ จ.ตาก ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน โดยอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้
รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ : yakkaw.com
ขณะที่ข้อมูลสมาคมยักษ์ขาว ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและคนจิตอาสาใน จ.เชียงราย ที่ติดตั้งเครื่องวัดตามโรงเรียนกระจายยังสถานศึกษาต่างๆ พบว่าค่า PM2.5 สถานี โรงเรียนชุมชนไม้ลุงขนมิตรภาพ 169 วัดได้สูงถึง 612 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 5 ถึง 6 เท่า สาเหตุสำคัญแม้ อ.แม่สาย จะไม่พบจุดความร้อนหรือไฟป่า แต่เมื่อดูแผนที่สมาคมยักษ์ขาวกลับพบจุดความร้อนเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้านและลมพัดเข้ามาในพื้นที่
ขณะที่การป้องกันตัวของงชาวบ้านเมื่อต้องออกไปในพื้นที่โล่งแจ้ง หน้ากากอนามัย เป็นสิ่งที่จะต้องใช้แต่เป็นสิ่งที่หายาก เพราะมีการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ขาดตลาด ทำให้ชาวบ้านในเทศบาลและจิตอาสาพระราชทาน เทศบาลแม่สาย ต้องระดมกันช่วยกันเย็บหน้ากากไว้ใช้เองและแจกจ่ายในชาวบ้านในเทศบาลตำบลแม่สาย ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 28,000 คน
สำหรับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. - พ.ค. 2562 อ.แม่สาย มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากถึง 77 วัน ปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้คนแม่สาย เริ่มตั้งคำถามว่าจะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศแบบนี้ ไปอีกนานแค่ไหนและนโบายการแก้ปัญหาจากภาครัฐ
สภาพอากาศที่แม่สาย อาจต้องเผชิญฝุ่นควันต่อเนื่องอีก ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยายังมีลมจากทิศตะวันตก พัดกลุ่มควันจากประเทศเพื่อบ้านเข้ามา และยังพบจุดความร้อน และวันนี้ก็ค่าฝุ่นเกินค่าเข้าสู่วันที่ 6 แล้ว
ฝุ่นควันกระทบหลายพื้นที่ภาคเหนือ
เช่นเดียวกับที่ จ.แม่ฮ่องสอน แม้จะพยายามควบคุมการเผา และระดมรถน้ำฉีดพ่นละอองน้ำสร้างความชุ่มชี้น และลดปริมาณฝุ่นควัน แต่คุณภาพอากาศที่ตัวเมือง ยังคงอยู่ในเกณท์มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน วัดได้ 199 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชิญชวนประชาชนที่มีเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ ช่วยกันฉีดพ่นบริเวณหน้าบ้าน หรือหลังคาบ้าน ส่วนตามถนนต่างๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบ 10 หน่วยงาน ให้ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อสลายฝุ่นควัน รวมทั้งชะลอการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของแต่ละพื้นที่ และตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.-30 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ให้แต่ละหน่วยงานออกทำงานกันอย่างเข้มข้นไม่ให้มีการจุดไฟป่า หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการจับทันที
ขณะที่ จ.พะเยา แม้ค่าฝุ่น PM2.5 จะเริ่มลดลง แต่ยังอยู่ในเกณท์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา วัดได้ 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สำหรับปัญหาฝุ่นควันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะนี้ กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ระบุว่า มีสาเหตุมาจากลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง-อ่อน พัดหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อากาศไม่ยกตัวในตอนเช้า การระบายฝุ่นละอองอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง รวมทั้งสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้มีการสะสมตัวของฝุ่นละออง ที่สำคัญพบจุดความร้อนเพิ่มใน 4 จังหวัด
พล.ต.จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ขอให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ป่า พื้นที่ผ่อนผัน และการควบคุมไม่ให้ใครเข้าป่า ตลอดจนใช้ศักยภาพของจิตอาสาในพื้นที่แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน