วันนี้ (11 มี.ค.2563) เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้เผยแพร่บทความ ระบุว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักกับไวรัสโคโรนา แต่ทราบไหมว่าแท้จริงแล้วที่มาของชื่อนั้น มาจากชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ เมื่อมองไวรัสผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่ามีลักษณะคล้ายกับบรรยากาศชั้นโคโรนา ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ ลักษณะปุ่มยื่นออกมาของไวรัส (viral spike (S) peplomers) เป็นโปรตีนที่กระจุกตัวอยู่บนผิวไวรัส ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองของโฮสต์ (host tropism) ซึ่งคำว่า“corona” ในภาษาละติน แปลว่า “มงกุฎ” หรือ “รัศมี”
โคโรนา บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์
ชั้นโคโรนา (Corona) เป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยอนุภาคพลังงานสูงที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ มีความสว่างเพียง หนึ่งในล้านส่วน ของชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ซึ่งเป็นชั้นที่ดวงอาทิตย์เปล่งแสงสว่างออกมา อย่างไรก็ตาม ชั่วขณะหนึ่งระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ชั้นโฟโตสเฟียร์ของดวงอาทิตย์จะถูกบดบัง ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นชั้นโคโรนาสว่างไสวออกมาโดยรอบเงาสุริยุปราคาได้ด้วยตาเปล่า ดุจดั่งมีมงกุฎอยู่รอบๆ อันเป็นที่มาของชื่อโคโรนา
โคโรนา มีความหนาแน่นเพียง หนึ่งในล้านล้านส่วน เมื่อเทียบกับแก๊สที่อยู่ภายในดวงอาทิตย์ แต่กลับมีความร้อนสูงถึง 1-3 ล้านเคลวิน ซึ่งร้อนกว่าชั้นโฟโตสเฟียร์ที่มีอุณหภูมิเพียง 5,800 เคลวิน โดยเหตุที่โคโรนามีอุณหภูมิสูงขนาดนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงการดาราศาสตร์ แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กบนพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ ส่งผลให้โคโรนากำลังสูญเสียมวลสารออกไปอย่างต่อเนื่อง กลายมาเป็นลมสุริยะ
จากภาพ :
- (ซ้าย) ภาพตัดขวางของไวรัสโคโรนาผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่ามีโปรตีนกระจุกตัวเป็นแฉกอยู่บนผิวของไวรัส มีลักษณะคล้ายกับบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ชื่อว่า “ชั้นโคโรนา”
- (ขวา) ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2560 แสดงให้เห็นชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์