ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจ 19 แรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ ไม่พบเชื้อ COVID-19

สังคม
4 มี.ค. 63
13:25
1,849
Logo Thai PBS
ตรวจ 19 แรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ ไม่พบเชื้อ COVID-19
สธ.ยืนยันผลตรวจแรงงานไทยในเกาหลีใต้ 19 คน ไม่พบเชื้อ COVID-19 ขณะนี้มีมาตรการรองรับกรณีแรงงานจำนวนมากขอกลับไทย พร้อมรณรงค์ประชาชนใช้หน้ากากผ้า ย้ำประสิทธิภาพเพียงพอ ช่วยลดขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในสถานพยาบาล

วันนี้ (4 มี.ค.2563) กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 คน กลับบ้านแล้ว 31 คน เสียชีวิต 1 คน รวมสะสม 43 คน อาการหนัก 1 คน ทำให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ซึ่งไทยยังคงเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อชะลอไม่ให้เข้าสู่การแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ใส่หน้ากากอนามัย

แนะวิธีปฏิบัติเมื่อต้อง "กักตัว" ที่บ้าน

ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประทศที่มีการระบาด หากพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่งให้ประสานสถานพยาบาลเพื่อนำสู่ระบบการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป หากไม่พบอาการต้องสงสัย ให้กักตัวเองในที่พัก 14 วัน (Self quarantine at home) และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ดังนี้ สวมหน้ากากอนามัยอยู่ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร หยุดเรียน หรือทำงาน งดร่วมกิจกรรมต่าง ๆ นอนห้องแยก ปิดปาก จมูกทุกครั้งที่ไอ จาม ทำความสะอาดที่พัก ของใช้ แยกของใช้ ทานอาหารแยกกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลาง ทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีหลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูกเจ็บคอ หายใจเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

รอความชัดเจนตัวเลขประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย

ส่วนเรื่องแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายความมั่นคง เพื่อวางแผนร่วมกัน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลป้องกันการระบาด ดำเนินการตามหน้าที่และพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อสั่งการต่อไป

ส่วนประเด็นการประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย COVID-19 คาดว่าจะได้ข้อสรุปของผลประชุมและมาตรการในเวลา 12.00 น. วันนี้ โดยขอให้รอการประกาศก่อนว่าจะมีจำนวนกี่ประเทศ ซึ่งนายกฯ หรือรองนายกฯ อาจเป็นผู้แถลงความชัดเจน เช่น มาตรการกักตัวนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว 14 วัน พร้อมยกตัวอย่างญี่ปุ่น ที่ระบุในใบผ่านเมืองชัดเจนว่าพักอยู่โรงแรมใด ซึ่งไทยจะมีมาตรการตรวจเข้มขึ้นเพื่อให้ตรวจสอบและติดตามได้

โรงแรมต้องรู้ว่านักท่องเที่ยว หรือผู้พักมาจากประเทศใด และสามารถตรวจสอบกลับไปได้ รวมทั้งที่มาอยู่ในบ้านของคนไทย เพื่อประโยชน์ในการติดตาม
โฆษก สธ.

โฆษก สธ.

โฆษก สธ.

ตรวจ "แรงงานไทย" ยังไม่พบเชื้อ COVID-19

นอกจากนี้ แรงงานในเกาหลีใต้ที่เดินทางมาไทย พบว่ามีไข้ 19 คน ผลการตรวจสารคัดหลั่ง ไม่พบเชื้อ COVID-19 ส่วนคนที่เหลือได้ติดตามการกักตัวที่บ้าน 14 วัน ขอให้ทุกคนรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนประชาชนต้องให้โอกาสคนกลุ่มนี้ แม้จะไปทำงานถูก หรือไม่ถูกกฎหมาย แต่เป็นคนไทยเหมือนกันขอให้พื้นที่การแสดงตัวและเข้ารับการรักษา

การแบ่งแยกกีดกันอาจมีผลกระทบมากมาย เขาเป็นแรงงาน ด้านหนึ่งก็เป็นคนไทยที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและครอบครัว ถึงแม้จะไม่ถูกต้อง แต่เขาจะกลับมา ก็เป็นท่าทีของรัฐบาล และ สธ. ที่ต้องดูแลเขาประหนึ่งมีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่ในฐานะคนไทย และหน้าที่ของเขาก็ต้องทำให้ถูกต้อง

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่า บุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรองรับกรณีแรงงานในเกาหลีใต้จำนวนมากขอกลับไทย ซึ่งขั้นตอนแรกคือการคัดกรอง เฝ้าระวังและติดตาม หากมีอาการเข้าเกณฑ์ฯ ต้องตรวจหาเชื้อ หรือเข้าสู่กระบวนการดูแลที่โรงพยาบาล โดยทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อมบริหารจัดการแล้ว เช่น ปรับพื้นที่รองรับผู้ป่วย ปิดห้องพิเศษเป็นห้องแยกโรค แม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนก็ร่วมดูแลด้วย

เกาะติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 : https://news.thaipbs.or.th/focus/Coronavirus2019

สธ.เร่งกระจายหน้ากากอนามัยให้ รพ.

โฆษก สธ. กล่าวถึงสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ว่า สธ.เป็นผู้ใช้เหมือนกัน ซึ่งมีการยกระดับมาตรการและต้องมีสต็อก ทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุด อุปกรณ์ทางการแพทย์ ล่าสุดให้สำนักงานเขตสุขภาพ 12 แห่ง รายงานจำนวนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ตัวเลข ณ วันที่ 26 ก.พ.2563 พบว่ามีจำนวน 8 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลได้ใช้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ได้เพิ่มมาจากองค์การเภสัชฯ วันที่ 10 ก.พ.-3 ก.พ. เฉลี่ย 50,000-500,000 ชิ้นต่อวัน โดยเห็นความพยายามของหน่วยงานนอกกระทรวงที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสถานพยาบาลบางแห่งอาจจะร้องขอผ่านทางสื่อออนไลน์ ปลัดฯ สธ.รับฟังทุกเสียง และมอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการ เข้าจัดการแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

บางทีบอกว่าต้องปิดการให้บริการ อย่าเพิ่งนะครับ เพราะมีระบบการบริหารจัดการตรงนี้อยู่ ท่านเป็น ผอ.โรงพยาบาล อาจมองแค่ว่าทรัพยากรในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะมองข้ามโรงพยาบาลกันได้ เสียเท่าไหร่ไม่ว่า เรื่องของบุคลากรต้องมาก่อน ถ้าไม่พอก็แจ้งมา
รองอธิบดีกรมอนามัย

รองอธิบดีกรมอนามัย

รองอธิบดีกรมอนามัย

รณรงค์ใช้ "หน้ากากผ้า" ดึง อสม.ร่วมผลิต

ขณะที่ นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กากผ้าเป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ป่วย เพื่อให้ไทยผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 พร้อมรณรงค์ลดการสัมผัส ล้างมือบ่อย ๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และเชิญชวนคนไทยร่วมประดิษฐ์หน้ากากผ้าคนละ 3 ชิ้น ได้ 201 ล้านชิ้น เพื่อให้ใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ แก้ปัญหาหน้ากากทางการแพทย์ไม่เพียงพอกับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเชิญชวนอาสาสมัครเย็บหน้ากากผ้า ซึ่งกรมอนามัยเชิญชวน อสม. ผู้สูงอายุ และประชาชน ส่วนพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ท่ารถ วัด หรือพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก จะรณรงค์ป้องกัน COVID-19 เช่น การทำความสะอาดอาคาร สถานที่ การล้างมือ การสวมหน้ากากผ้า

ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ สามารถนำมาผลิตหน้ากากผ้าได้ ป้องกัน COVID-19 ได้ 54-59% เพียงพอสำหรับประชาชนที่เข้าไปในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่แออัด

ด้าน นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประะชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องการใช้หน้ากากผ้าว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งเชื้อ COVID-19 ติดต่อผ่านการไอจาม อานุภาพ 5 ไมครอน และการสัมผัสสารคัดหลั่งตามประตู หรือสถานที่ต่าง ๆ โดยกรมฯ จะช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพควรใช้ผ้าชนิดใด การเย็บ สายรัด และการซักทำความสะอาด และสื่อสารกับประชาชนให้ทำเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมฯ จะทดสอบการซักหน้ากากผ้า 100 ครั้ง และดูความเปลี่ยนแปลงของผ้าว่าเกิดใยขุยมากน้องเพียงใดและเกิดการระคายเคืองหรือไม่
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

แนะทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี

สำหรับการกำจัดหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หรือทิ้งอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ ขอให้ประชาชนทิ้งในถังขยะโดยนำส่วนสีฟ้าพับเข้าด้านในและใส่ถุงพลาสติก เพราะขยะที่ออกจากบ้านเรือนยังไม่ได้กำหนดให้ทิ้งลงขยะติดเชื้อ แต่ไม่แนะนำให้ตัดฉีกหน้ากากอนามัย เพราะยิ่งจับยิ่งอันตรายมากขึ้น ส่วนในโรงพยาบาลมีมาตรการรองรับตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ซื้อต้องรู้แหล่งที่มาและมาตรฐานการผลิต เพราะช่องทางออนไลน์หลายแห่งได้ถอดสินค้าออกจากระบบแล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจในมาตรฐาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง