วันนี้ (3 มี.ค.2563) กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วย COVID-19 คงเดิม 43 คน รักษาหายแล้ว 31 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 11 คน เสียชีวิต 1 คน ซึ่งไทยมีตัวเลขผู้ป่วยเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ขณะที่เกาหลีใต้มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มมากที่สุด และยุโรปมีตัวเลขผู้ป่วยกระจายเพิ่มมากขึ้น เช่น เยอรมนี สเปน ส่วนผู้ป่วยวัณโรคร่วมด้วย ขณะนี้ไม่พบเชื้อ COVID-19 แล้ว แต่อาการทรงตัว ส่วนประเทศที่ควรหลีกเลี่ยงเดินทาง 9 ประเทศ และขอให้ติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรคก่อนเดินทาง
เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่ม เหตุใช้มาตรการเข้มข้น
ส่วนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) เฉลี่ยวันละ 300 คน ต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล เพราะมีความเสี่ยงเป็น COVID-19 โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการเข้มข้นมากขึ้น ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกลุ่มดังกล่าวแนะนำให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสอบถามติดตามอาการ ส่วนกลุ่มที่กลับจากพื้นที่แพร่ระบาด 9 ประเทศ ขอให้ลดกิจกรรมทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ กักตัวที่บ้าน 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้พบแพทย์ทันที หรือแจ้ง 1422 และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ขอให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หรือใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปยังสถานที่ที่มีจำนวนมาก
ขอให้ทุกคนรับผิดชอบต่อตัวเอง สังคมต้องร่วมมือกัน ตระหนกกับตระหนัก เป็นเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ ขอให้ตั้งสติรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
ยังไม่ทราบตัวเลขแรงงานขอกลับไทย
กรณีแรงงานไทยที่ทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ และขอมอบตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศนั้น นพ.โอภาส ระบุว่า สธ. ได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน แม้จะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่เมื่อเป็นคนไทยจะทิ้งกันไม่ได้ ต้องดูแลกัน โดยมีการประสาน ตม.รับผิดชอบเข้าออกประเทศ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงที่อาจต้องร่วมดูแลในภาวะฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม นโยบายคือคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยในประเทศมากที่สุด ขณะนี้ตัวเลขยังไม่ชัดเจน ยังไม่ได้รับรายงานว่าแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ต้องการเข้ามาในไทยจำนวนเท่าใด มีข่าวตั้งแต่ 5,000-150,000 คน ซึ่งต้องการทราบรายชื่อทุกคนเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการและติดตามอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนอย่ารังเกียจ และร่วมมือกันแจ้งกรณีที่พบบุคคลเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง โทร. 1422 โดยจะเก็บข้อมูลเป็นความลับ
ข้อมูลที่แม่นย้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก อยากได้ชื่อผู้ที่ต้องการเดินทางวันนี้เลย แต่ต้องประสานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการวางแผนการเดินทาง หรือดูแลเฝ้าระวัง COVID-19 เมื่อแรงงานกลุ่มดังกล่าวเข้ามาแล้ว จะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวดหากพบเป็นไข้ต้องเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลรองรับแล้ว ส่วนการกักกันต้องดูว่ามาจากเมืองใดของเกาหลีใต้ เบื้องต้นได้หารือสถานที่แล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยข้อมูล ย้ำว่านโยบายคือคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยในประเทศมากที่สุด
หน้ากากอนามัยมือสอง ไม่ได้มาจาก รพ.
กรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน มีการจำหน่ายทางออนไลน์ราคาแพงเกินจริง หรือการนำหน้ากากอนามัยมือสองมาจำหน่ายนั้น นพ.โอภาส ระบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถใช้หน้ากากผ้าได้ เพราะมีประโยชน์กว่าไม่ใส่อะไรเลย ยกตัวอย่างตนก็พกหน้ากากลักษณะนี้ ส่วนผู้ที่ความเสี่ยงสูงให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) ขณะที่การนำกระดาษทิชชูมาใช้แทน ยืนยันว่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถป้องกัน COVID-19 ส่วนการนำหน้ากากอนามัยรีไซเคิลมาจำหน่าย การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่ได้มาจากโรงพยาบาล แต่มาจากโรงงาน โอกาสเป็นขยะติดเชื้อรุนแรงมีต่ำ แต่ไม่เหมาะสมอย่างมาก และเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การสาธารณสุข ทั้งนี้ ในสถานพยาบาลต้องกำจัดแบบขยะติดเชื้อ หากประชาชนที่ไม่ป่วยให้กำจัดแบบขยะทั่วไป และหากมีการแพร่ระบาดของโรคจะกำจัดอีกแบบหนึ่ง แต่ขออย่าทิ้งในที่สาธารณะ แม่น้ำลำคลอง
เกาะติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 : https://news.thaipbs.or.th/focus/Coronavirus2019
สธ.เคลียร์ใจ หมอแจ้งความ ผอ.รพ.
ส่วนข้อร้องเรียนของโรงพยาบาลเอกชนที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัยนั้น สธ.เป็นผู้ใช้ไม่ใช่ผู้ผลิต และได้ผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุมภายใต้กระทรวงพาณิชย์ แต่ สธ.รับรู้ความเดือดร้อนดังกล่าว และพยายามประสานให้เพียงพอใช้งาน
นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงกรณีแพทย์แจ้งความผู้อำนวยการโรงพยาบาล จ.ภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในประเด็นป้องกัน COVID-19 โดยสั่งการให้ผู้ตรวจราชการลงไปกำกับดูแลทั้งมาตรการทางกฎหมาย และการพูดคุย ที่อาจมีการสื่อสารเข้าใจผิดบางประการ ยืนยันโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม และที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยคงไม่ใช่อย่างนั้น โดย สธ. และกระทรวงมหาดไทย มีแผนการบูรณาการรับมือ COVID-19 ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข ลงนามให้ไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับซาร์ส หรือเชื้อซาร์สเวอร์ชั่น 2 เป็นเชื้อโรคชนิดใหม่ โดยมีความรุนแรงน้อยกว่า แต่ติดต่อง่ายกว่า เพื่อควบคุมเชื้อโรคในการนำไปวิจัยและพัฒนา