วันนี้ (3 มี.ค.2563) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เรื่อง การให้บริการผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ตามที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ของไทยนั้น ในการนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และลดความคับคั่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงให้ดำเนินการ ดังนี้
- งดบริการตรวจสุขภาพคนไทย ณ คลินิกตรวจสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16 แต่ยังคงให้บริการคลินิกอื่นๆ ตามปกติ
- งดบริการตรวจสุขภพของคนต่งชาติณ คลินิกตรวสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16
- งดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่มีการชุมนุม หรือมีคนแออัดและคับคั่ง
สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือมีประวัติเดินทางมาจากประเทศ (หรือแวะผ่านประเทศ) เกาหลีใต้ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อ COVID-19 ภายใน 14 วัน ให้ติดต่อจุดแยกผู้ป่วยตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ ชั้น 1 ทันที
ขอความร่วมมือบุคลากรใช้หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อ 1 วัน
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังได้ประกาศเรื่อง การใช้หน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล
1.ข้อบ่งชี้ หน้ากากชนิด N95 หรือสูงกว่า ร่วมกับ หน้ากากป้องกันบริเวณใบหน้า/ดวงตา (Face shield, goggle)
บุคลากรที่ปฏิบัติงานในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อ (aeroso-generating
procedure) ได้แก่ การช่วยฟื้นคืนชีพ การใส่ถอดท่อช่วยหายใจ การดูดเสมหะ การพ่นยา การเก็บสิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ หรือไอมาก ระยะเวลาในการใส่สามารถถอดเข้าออกได้อย่างน้อย 5 ครั้ง โดยไม่จำกัดระยะเวลาการใส่ หรือพิจารณาตามความเหมาะสม (https://www.cdc.gov/niosh/topics/hcwcontrols/recommendedguidanceextuse.html)
2. ข้อบ่งชี้หน้ากากอนามัย Surgical Mask
1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่แผนกฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วยใน รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งผู้ป่วย และพนักงานทำความสะอาดที่ปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าว
2. บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่ EID clinic และ EID ward (จก2 และ จก4) กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ต้องใส่หน้ากาก N95
3. บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจที่จุดบริการอื่นๆ
4. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิติการที่มีโอกาสสัมผัสเลือดและสิ่งคัดหลั่ง
5. บุคลากรที่มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือ จาม
6. บุคลากรที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด หรือ ยากดภูมิต้านทาน หรือ บุคลากรที่มีโรคทางเดินหายใจ
7. บุคลากรที่อยู่ในระยะเฝ้าระวังว่าจะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 เช่นกลับจากประเทศที่มีการระบาด หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้ป้องกัน
ระยะเวลาในการใส่ : 1 ชิ้นต่อคนต่อวัน (หรือต่อเวร) ยกเว้นปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากตนเองหรือผู้ป่วยไห้เปลี่ยนได้ก่อน
ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
หมายเหตุ สำหรับบุคลากรฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ และบุคลากรที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องใช้หน้ากาก N95/Surgical Mask ที่กำหนดไว้ในข้อ 1-7 สามารถใช้หน้ากากผ้า เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้าโดยไม่จำเป็น และแนะนำให้ซักทำความสะอาดทุกวัน ทั้งนี้ บุคลากรต้องล้างมืออย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับหน้ากากอนามัยและบริเวณใบหน้า