วันนี้ (2 มี.ค.2563) นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัวของกำลังการผลิต โดยกรมการค้าภายในได้รับหน้ากากอนามัยจากโรงงาน เฉลี่ยวันละ 1,350,000 ชิ้น ในจำนวนนี้จัดสรรให้กับโรงพยาบาลรัฐโดยตรง 150,000 ชิ้น องค์การเภสัชกรรม 200,000 ชิ้น สมาคมร้านขายยา 25,000 ชิ้น บริษัทการบินไทย 18,000 ชิ้น และกระทรวงพาณิชย์ 200,000-300,000 ชิ้น เพื่อบรรจุใหม่ขนาด 4 ชิ้น ราคาซองละ 10 บาท ก่อนจัดสรรไปตามร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก และจะเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยรถคาราวานไปยังชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ 111 คัน เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัยราคาถูก
ปัดรับผิดชอบโควตา รพ.เอกชน
อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่า กรมฯ ไม่ได้รับผิดชอบการจัดสรรหน้ากากอนามัยในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอยู่ในรูปแบบสัญญาการค้าตามระบบปกติกับโรงงานผู้ผลิต ประมาณวันละ 750,000 ชิ้น และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เกิดขบวนการกว้านซื้อหน้ากากอนามัยในราคาสูงกว่าตลาดหรือไม่ หลังกระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย พร้อมเดินหน้าเอาผิดผู้ค้าหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ฐานสนับสนุนการค้ากำไรเกินควรด้วย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ แต่จะไม่ทบทวนสัดส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัยจากกระทรวงพาณิชย์ไปให้โรงพยาบาล เนื่องจาก กรมฯ มีหน้าที่ดูแลผู้บริโภครายย่อย และเตรียมกำหนดราคาแนะนำ ค่าบริการตรวจและรักษาอาการจาก COVID-19 เร็ว ๆ นี้
เกาะติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 : https://news.thaipbs.or.th/focus/Coronavirus2019
คืน สธ.จัดสรรหน้ากากอนามัยเดือนละ 10 ล้านชิ้น
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเรียกประชุมตัวแทนโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เห็นตรงกันให้กระทรวงพาณิชย์คืนอำนาจบริหารโควตาหน้ากากอนามัยในส่วนโรงพยาบาลรัฐ และองค์การเภสัชกรรม เฉลี่ยวันละ 350,000 ชิ้น หรือประมาณเดือนละ 10,000,000 ชิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ให้กับกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมแผนใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการ เข้ากำกับดูแลปริมาณหน้ากากอนามัยทั้งระบบแบบเบ็ดเสร็จ หลังประเมินว่าสถานการณ์ขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต หากมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล จะใช้วิธีการกำหนดราคาเพดานควบคุมสูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดการปัญหาการจำหน่ายเกินราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น