วันนี้ (2 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพิงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และทันทีที่จีนประกาศปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป ขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ก็ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ไล่มาตั้งแต่สนามบิน สายการบิน สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนห้างร้านต่างๆ ที่บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา จนทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องออกมาตรการ เพื่อเอาตัวรอดภายใต้ภาวะวิกฤต
สายการบินหั่นเงินเดือนผู้บริหาร
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ลงนามปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร 15-25% ลดค่าพาหนะเหมาจ่ายของผู้บริหาร ลดงบประมาณสำหรับการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานลง 30% ยกเว้นพนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน รวมทั้งกำชับให้งดการทำงานล่วงเวลา
สุเมธ ดำรงชัยธรรม
ขณะที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีการทบทวนแผนธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับลดค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการบินและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งได้ปรับลดความถี่ของเที่ยวบิน ยกเลิกเส้นทางบินในบางเส้นทาง ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร 50% ยกเลิกการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2563 ของผู้บริหารสูงสุดของฝ่าย และลดจำนวนพนักงานสถานีต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงานในการลางานโดยไม่รับค่าจ้าง หรือ Leave without pay จำนวน 10-30 วัน โดยยืนยันมาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน และการบริการแก่ผู้โดยสาร
ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากสายการบินนกแอร์เลิกจ้างนักบิน 4 คน ส่วนนกสกู๊ตเลิกจ้างนักบินและพนักงานต้องรับบนเครื่องรวม 47 ตำหน่ง หลังผู้โดยสารจีนหายไป
2 ห้างชื่อดังออกมาตรการช่วยผู้ค้า
ส่วนห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านใจกลางเมืองอย่างศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า สัดส่วนตามประเภทการเช่าตั้งแต่ 10-20% เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.2563 หลังผู้ประกอบการร้านค้าเรียกร้องให้ปรับลดค่าเช่า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป
แม้แต่ห้างเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงล้วนได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าออกมาเรียกร้องให้ช่วยเหลือ และในเวลาต่อมา ทางห้างได้มีการมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ได้แก่ ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ระยะเวลา 1 ปี ได้มีการลดค่าเช่าค่าบริการประมาณ 10-35% ตามสัดส่วนพื้นที่และประเภทการเช่า เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 พ.ค.2563 ส่วนผู้เช่าระยะยาว ระยะเวลาเซ้ง 10 ปี ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีรายได้ค่าเช่าค่าบริการรายเดือนจากผู้เช่ากลุ่มนี้แล้ว
โรงแรม-สถานที่ท่องเที่ยว "เดี้ยง"
โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ออกประกาศขอความร่วมมือพนักงาน เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ในการสมัครใช้สิทธิ์การลดแบบไม่รับค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค.2563 เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่พนักงานจะยังได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามปกติ ทั้งเซอร์วิสชาร์จ และโบนัส โดยสามารถลาไม่รับค่าจ้างโดยไม่จำกัดจำนวนวันลา หากใช้สิทธิ์ลาตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป จะได้รับส่วนลดพิเศษ 20% เช่น ลาแบบไม่รับค่าจ้าง 5 วัน แต่จะถูกหักค่าจ้างแค่ 4 วัน และยังสามารถขอใช้ staff rate จองห้องพักโรงแรมในเครือควบคู่ไปกับการลาได้ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงทุกคนที่สำนักงานใหญ่ได้สมัครใช้สิทธิ์การลาจำนวน 5 วัน
ภาพ : เลเจนด์ สยาม
ส่วนโครงการเลเจนด์ สยาม ซึ่งเป็นสวนสนุกเชิงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี บนพื้นที่ 164 ไร่ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ได้ทำจดหมายแจ้งปิดกิจการถึงพนักงาน เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์ภาวะโรคระบาด COVID-19 เป็นจำนวนมากตามลำดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยชะลอตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี
ฝ่ายบริหาร จึงเห็นสมควรปิดกิจการเป็นระยเวลาหนึ่ง เพื่อแก้ไขปรับปรุงและวางแผนกลยุทธ์ใหม่ จึงขอเลิกจ้างพนักงานบางส่วนงาน ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.เป็นต้นไป โดยจะจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดีขึ้น ทางบริษัทจะเปิดกิจการและรับพนักงานกลับเข้ามาทำงานโดยเร็วต่อไป
"แอตต้า" ห่วงเข้าเฟส 3 กระทบหนัก
นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช ที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ยอมรับว่ากังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 หากเข้าสู่ระยะที่ 3 จะยิ่งซ้ำเติมภาคท่องเที่ยว เพราะขณะนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 28 ม.ค. ที่เกิดการแพร่ระบาดในไทยระยะที่ 2 จนถึงวันที่ 23 ก.พ. นักท่องเที่ยวหายไปแล้ว 3 ล้านคน หรือลดลง 61% ส่งผลให้รายได้ภาคท่องเที่ยวหายไป 50,000 ล้านบาท แต่หากนับตั้งช่วงเดือน ต.ค.2562 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2563 ขณะนี้รายได้ท่องเที่ยวหายไปหลักแสนล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ เรียกร้องให้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใน 3-4 เดือน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายทันที รวมถึงยกเลิก visa on arival ของจีนชั่วคราว เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง
รมว.ท่องเที่ยว เตรียมหารือนายกฯ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รวม 5 มาตรการ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นมาตรการในส่วนของการบรรเทาผลกระทบ แต่มาตรการเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอจะประคองภาคท่องเที่ยวให้รอด หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา จึงต้องมีมาตรการออกมาเป็นระลอก โดยจะหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการประชุม ครม. โดยหากนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยจะเสนอเข้าต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 10 มี.ค.
พิพัฒน์ รัชกิจประการ
เบื้องต้น มาตรการจะเป็นการของบประมาณจากสำนักงบประมาณเพื่อใช้งบกลาง และสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวข้ามจังหวัด อย่างน้อย 1 คืน โดยมีมาตรการจูงใจ ซึ่งจะเร่งออกมาให้ทันเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ผู้ปกครองนิยมพาบุตรหลานออกท่องเที่ยว จากเดิมที่ไปต่างประเทศก็จะให้หันมาเที่ยวไทยแทน