ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

COVID-19 ลาม ทำอุตสาหกรรมการบินทรุด

เศรษฐกิจ
25 ก.พ. 63
15:28
5,280
Logo Thai PBS
COVID-19 ลาม ทำอุตสาหกรรมการบินทรุด
‘โอ้โห...ว่างขนาดนี้จะคุ้มทุนไหมนะ? ความคิดนี้ผุดขึ้นมาในหัว ขณะผมกำลังนั่งเครื่องบินเดินทางจากกรุงเทพฯไปงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2020 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นี่คือภายในห้องโดยสารของสายการบินหนึ่ง ที่มีผู้โดยสารเพียง 50-60 คน จาก 180 ที่นั่ง ในเที่ยวบินสุดสัปดาห์ไปยังเมืองยอดนิยมของชาวไทยและมีเที่ยวบินมากกว่า 20 เที่ยว/วัน

แน่นอนว่าในสภาวะปกติ จึงแทบไม่เห็นภาพเช่นนี้แน่ แต่ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังเป็นที่กังวลจากผู้คนทั่วโลก ทำให้ความต้องการในการเดินทางระหว่างประเทศลดลงตามไปด้วย

งานสิงคโปร์แอร์โชว์ปีนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า วิกฤตของอุตสาหกรรมการบินในปีนี้อาจรุนแรงมากกว่าที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้ เพราะแม้จะเป็นวันแรกที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมงาน แต่บรรยากาศที่ลานจัดแสดงเครื่องบินนอกอาคาร ส่วนใหญ่มีแต่อากาศยานของกองทัพสิงคโปร์

นอกจากนี้ส่วนจัดแสดงภายในอาคารยังพบกับบูธนิทรรศการที่ว่างเปล่าจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ภาพที่จะเกิดขึ้นปกติในงานแสดงนิทรรศการการบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกต้องแย่งกันลงทะเบียนจองพื้นที่จัดแสดงกันข้ามปี

(เครื่องบินของกองทัพอากาศสิงคโปร์ จัดแสดงในงานแอร์โชว์ 2020)

ด้านผู้จัดงานระบุว่า ปีนี้มีผู้จัดนิทรรศการยกเลิกการเข้าร่วมงานกว่า 70 ราย หรือประมาณ 15 % หลังรัฐบาลสิงคโปร์ยกระดับการเตือนภัยเป็นสีส้ม และห้ามไม่ให้บุคคลที่มีประวัติเดินทางเข้า-ออกจีนแผ่นดินใหญ่ในรอบ 14 วันเดินทางเข้าประเทศ แน่นอนว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินขนาดเล็ก-กลาง และเครื่องบินส่วนตัว ที่มีลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นตลาดชาวจีน จึงยกเลิกการเข้าร่วมงานทันที นอกจากนี้ผู้ผลิตเครื่องบินและชิ้นส่วนอากาศยานสัญชาติจีนก็ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ ตามประกาศของรัฐบาลสิงคโปร์เช่นกัน

ล่าสุด ผู้จัดงานได้สรุปตัวเลขผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 30,000 คน ลดลงจากครั้งก่อนที่ 54,000 คน หรือลดลงไปกว่า 40%

 

(บูธจัดนิทรรศการที่ว่างเปล่าภายในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2020 หลังผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศยกเลิกการเข้าร่วมงาน)

เที่ยวบินจากจีนลดฮวบกว่า 80 %

การที่จุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ในเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งมีเที่ยวบินไปทั่วโลก ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นเรื่องท้าทายมากยิ่งขึ้น เพราะหากจินตนาการถึงสนามบินเมืองอู่ฮั่น ที่มีผู้โดยสารกว่า 24 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ย 65,000 คนต่อวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจีนจะออกคำสั่งห้ามกลุ่มทัวร์เดินทางออกนอกประเทศ และปิดการเข้าออกเมืองนี้ ขณะที่สายการบินต่างๆ ทั่วโลกต่างหยุดให้บริการชั่วคราว-ลดเที่ยวบินสู่จีนแผ่นดินใหญ่

 

ข้อมูลจาก Flightradar24 พบว่า ในวันที่ 21 มกราคม 2563 มีเที่ยวบินที่เดินทางออกจากสนามบินหลักของจีน 25 แห่ง 10,522 เที่ยวบิน ในขณะที่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ เหลือเพียง 2,123 เที่ยวบิน และยังมีแนวโน้ลดลงต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า เที่ยวบินออกจากประเทศจีนเหลือเพียง 1,868 เที่ยวบินเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว เที่ยวบินลดลงไปถึง 80 %

ฮ่องกง เจ็บหนัก !

ฮ่องกงเปรียบเสมือนศูนย์กลางด้านการบิน ในเอเชียตะวันออกมานานนับสิบปี ด้วยการที่เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ และมีสายการบินระดับโลกหลายรายให้บริการจึงเป็นจุดหมายสำคัญในการต่อเครื่องไปยังยุโรปและสหรัฐฯ แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในที่เกิดขึ้นในปี 2562 เริ่มส่งผลกระทบให้ภาพรวมผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

แต่เมื่อพิจารณาแล้วสถานการณ์การเมืองภายในต่อเนื่องมานานหลายเดือน อาจเทียบไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับผลกระทบจาก COVID-19 ที่เพิ่งมาเยือนเพียงเดือนเดียว

 

นี่คือภาพเปรียบเทียบบรรยากาศภายในอาคารของสนามบินฮ่องกง ภาพบนถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ขณะที่ภาพล่างถ่ายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ Malanie Brock ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้โดยสารบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด

 

 ภาพ : Malanie Brock

ข้อมูลจากสนามบินฮ่องกง ระบุว่า เที่ยวบินขาออกจากสนามบินลดลงอย่างมากจากเดิม 1,050 เที่ยวบินต่อวัน เหลือเพียง 340 เที่ยวบินต่อวัน โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินเพียง 160 เที่ยว น้อยกว่าสนามบินภูเก็ตซึ่งอยู่ประมาณ 290เที่ยวบิน/วัน


ล่าสุดสนามบินยังเตรียมปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินระยะไกล (Satellite Terminal) จากจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง ขณะที่สายการบินต่างๆ ทยอยปิดการให้บริการห้องรับรอง เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
ขณะที่สนามบินในไทยก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้โดยสารลดลงเช่นกัน

ก่อนหน้านี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สนามบิน 6 แห่งในสังกัด ได้แก่ สุวรรณภูมิ ,ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ , เชียงราย และ หาดใหญ่ มีจำนวนผู้โดยสารลดลงไป 25-30 % ในช่วงนี้ จากเดิมที่มีวันละ 450,000 คน/วัน มาที่ประมาณ 300,000 คน/วัน เนื่องจากผู้โดยสารจากจีนมีสัดส่วนสูงถึง 26 % สูงกว่าผู้โดยสารไทยมีสัดส่วน 18 %

ขณะที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะมีผู้ใช้บริการสายการบินลดลงถึง 19.6 ล้านคนในปีนี้ หรือลดลงไปกว่า 40 % โดยขณะนี้มีสายการบินกว่า 70 แห่งทั่วโลก ยกเลิกเที่ยวบินเข้า-ออกจากประเทศจีน และกว่า 50 แห่ง ลดเที่ยวบินทั้งเส้นทางเข้า-ออกจีน และเส้นทางอื่นๆ

คาดมูลค่าความเสียหายทั่วโลกทะลุ 1 ล้านล้านบาท

แม้อาจเร็วไปที่จะการคาดการณ์ถึงมูลค่าความเสียหายจากการระบาดในครั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ยุติและมีแนวโน้มขยายวงกว้าง แต่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)ได้ประเมินในเบื้องต้นว่า สถานการณ์ของ COVID -19 จะส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปีนี้ มีจำนวนผู้โดยสารลดลงประมาณ 13 % และสูญเสียรายได้ไปถึง 27,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 861,000 ล้านบาท

ภาพรวมทั่วโลก คาดว่า อุตสาหกรรมการบินจะสูญเสียรายได้กว่า 290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท

การประมาณการณ์นี้อยู่ภายในสมมติฐานที่ว่า การแพร่ระบาดจะมีศูนย์กลางอยู่ที่จีนเพียงประเทศเดียว เพราะหากมีการแพร่ระบาดหนักในประเทศอื่นด้วย มูลค่าความเสียหายจะสูงกว่านี้ หลายเท่าตัว ซึ่งในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานี้ สายการบินในเอเชียได้เริ่มทยอยลดเที่ยวบินลงอีก เนื่องจากผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงไม่เพียงแต่กระทบกับผู้โดยสารในกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ส่วนใหญ่เดินทางในชั้นประหยัดและใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ยังลุกลามไปถึงถึงกลุ่มนักธุรกิจและคนทำงานที่พยายามเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบินในระยะนี้ด้วยเช่นกัน

(บรรยากาศห้องโดยสารในชั้นธุรกิจ เที่ยวบินจากสิงคโปร์-กรุงเทพฯ วันที่ 16 ก.พ.2563 ที่มีผู้โดยสารเพียง 5 คน)

สายการบินปรับกลยุทธ์ ลดราคากระหน่ำ กระตุ้นยอดขายระยะสั้น-ยาว ใครจะเชื่อว่าตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปญี่ปุ่นจะขายอยู่เที่ยวละ 1,000 บาท รวมภาษีแล้ว

แต่นี่คือโปรโมชั่นล่าสุดที่สายการบินหนึ่งออกมา เพื่อกระตุ้นยอดขาย หลังเผชิญกับวิกฤตจากลูกค้าตลาดประเทศจีน และยังลามไปยังเส้นทางประเทศอื่นๆในภูมิภาค

หากถามว่า กลยุทธ์นี้จะช่วยกระตุ้นความกล้าให้คนจองตั๋วมากขึ้นหรือไม่ คงสะท้อนได้ชัดจากราคาตั๋วโปรโมชั่นที่ยังพอเหลือข้ามคืน แม้ราคาจะถูกพอๆกับเส้นทางภายในประเทศก็ตาม

 

สิงคโปร์ 2,600 บาท ไทเป 2,900 บาท ฮ่องกง 4,800 บาท โซล 6,700 บาท

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเส้นทางบินยอดนิยมในหมู่นักเดินทางชาวไทย แทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับ รวมภาษี ที่จองล่วงหน้าเพียง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง และบินในช่วงวัดหยุดสุดสัปดาห์

โดยปกติหากเป็นช่วงที่สายการบินออกโปรโมชั่น หรือจองล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ อาจได้เห็นราคานี้กันมาบ้าง แต่สำหรับการจองล่วงหน้าก่อนเดินทางเพียงสัปดาห์เดียว กับการเดินทางในช่วงสุดสัปดาห์ ไฮซีซั่นเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าแทบไม่ได้เห็นราคานี้ กับเส้นทางยอดฮิตในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเช่นนี้มาก่อน

 

 

 

 

นอกจากระยะนี้ จะได้ได้สายการบินต่างๆ อัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่องแล้ว บางแห่งยังได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการนำเครื่องบินที่เคยใช้บินในเส้นทางสู่ประเทศจีนและต่างประเทศ มาบินเพิ่มความถี่ในเส้นทางภายในประเทศทดแทน หรือปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร

ลางานโดยไม่รับเงินเดือน - ปลดพนักงานฟ้าผ่า

ผลกระทบจาก COVID-19 มาเร็วและรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์ขาลงของอุตสาหกรรมการบินที่ส่งสัญญาณรุนแรงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และถูกซ้ำเติมอย่างหนักด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สายการบินหลายแห่งที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากอยู่แล้ว ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด

ก่อนหน้านี้ Cathay Pacific สายการบินหลักของฮ่องกง ซึ่งมีเที่ยวบินสู่จีนแผ่นดินใหญ่และทั่วโลกกว่า 100 จุดหมายปลายทาง ได้ร้องขอให้พนักงานกว่า 27,000 คน ลางานโดยไม่รับเงินเดือน หลังสายการบินต้องปรับลดเที่ยวบินลงกว่า 40 % นอกจากนี้ยังมีแผนลดเที่ยวบินสู่จีนแผ่นดินใหญ่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จากเดิม 368 เที่ยวบิน เหลือเพียง 39 เที่ยวบินเท่านั้น

หรือแม้แต่เที่ยวบินที่มีปลายทางนอกจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง ฮ่องกง-ไทเป ที่เคยให้บริการ กว่า 90 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ก็ปรับลดเหลือประมาณ 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนว่าไม่เพียงแต่เส้นทางเข้า-ออกจีนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ไวรัสตัวนี้กำลังลุกลามไปถึงความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยเครื่องบินด้วยเช่นกัน
ขณะที่ Hong Kong Airlines ซึ่งสถานะทางการเงินย่ำแย่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้สั่งปลดพนักงานฟ้าผ่ากว่า 170 คนในชั่วข้ามคืน และยังปรับลดการให้บริการบนเครื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อควบคู่กับการลดค่าใช้จ่าย “ผู้โดยสารที่เดินทางชั้นธุรกิจจะได้รับน้ำเปล่าเพียง 1 ขวดเท่านั้น”

การปรับโครงสร้างและจำนวนพนักงานของสายการบิน ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในฮ่องกง หรือจีนแผ่นดินใกญ่เท่านั้น แต่ล่าสุดยังมีสายการบินของไทยบางแห่งได้นำมาตรการ ลดรายจ่ายด้วยการให้พนักงานบางส่วนเซนต์ใบยินยอมไม่รับค่าตอบแทนเสริม เช่น เงินค่าประจำตำแหน่ง ฯลฯ บางแห่งรุนแรงขึ้นขั้นสั่งปลดพนักงานหลักร้อยข้ามคืนด้วยเช่นกัน

มองไปข้างหน้า


แม้วันนี้ธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะอยู่ในภาวะยากลำบาก แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้น การฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

กราฟด้านบน คือจำนวนผู้โดยสาร และอัตราการเติบโตของผู้โดยสารของสนามบินฮ่องกง โดยจะเห็นว่าแม้ในปี พ.ศ.2546 (2003) ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ตัวเลขผู้เดินทางจะลดลงถึงร้อยละ 20 แต่ในปีต่อมา อัตราการเพิ่มของผู้โดยสารได้เพิ่มก้าวกระโดดถึง 35.4 %

นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้สายการบินจะฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากสายการบินทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างอยู่ในมือของทุนรายใหญ่ ทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศ และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เช่น ธนาคาร, อสังหาริมทรัพย์,โรงพยาบาล และยังมีธุรกิจเครือข่ายอื่นๆ ข่ายนอกเหนือจากสายการบิน การบริหารจัดการด้านการเงินและการหาเงินทุนมาทุ่มการตลาดจึงไม่ใช่เรื่องยาก แม้วันนี้แต่ละแห่งอาจกำลังเผชิญพายุโหมหนัก และอาจต้องสละบางสิ่งออกไปบ้างก็ตาม


เฌอศานต์ ศรีสัจจัง

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง