วันนี้ (20 ก.พ.2563) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีมีสื่อจีนระบุว่า
เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) สามารถแพร่กระจายผ่านละอองในอากาศได้ กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า ข้อมูลทางการแพทย์ในขณะนี้ การติดต่อยังเป็น Droplet space คือติดต่อในระยะใกล้ มีการไอจามใส่กัน เป็นละอองฝอยขนาดใหญ่
นพ.รุ่งเรือง อธิบายเพิ่มเติมว่า AirBorne การติดต่อทางอากาศจะเป็นเชื้อที่ออกมาเป็นละอองฝอยเล็กมากๆ เช่น วัณโรค หัด ขณะที่ Droplet space จะเป็นโรคส่วนใหญ่ที่ติด เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไอจาม รดกัน จะออกมาเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในขณะนี้ว่าจะมีการกระจายเป็นละอองขนาดเล็ก จะเกิดได้ในกรณีทำหัตถการทางการแพทย์
โรคๆ หนึ่งจะติดต่อกันทางฝอยละอองขนาดใหญ่ ไอ จาม รดกัน ถ้าสมมุติว่าคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่ต้องทำหัตถการที่ซับซ้อนมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น ละอองมันจะแตกออกได้ อาจจะไกลมากขึ้น จึงเห็นว่าหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลเวลาเข้าไปดูแลคนไข้ ต้องสวมเสื้อป้องกันมากขึ้น
ทั้งนี้ ย้ำว่าโรคส่วนใหญ่ที่ติดทาง AirBorne จะแพร่เชื้อได้ยาก ติดได้ยาก
ผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว 17 คน
การแถลงข่าวสถานการณ์ COVID-19 กระทรวงสาธารณสุข ระบุไม่มีประกาศหรือนโยบายห้ามการเดินทางไปพื้นที่ระบาดของ COVID-19 แต่หากจำเป็นต้องไป ขอให้ระมัดระวัง ให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือเจลล้างมือ ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อไปอยู่ในที่คนจำนวนมาก ส่วนข้อกังวลหลังจากเดินทางกลับประเทศไทย ทุกคนจะผ่านการคัดกรองที่สนามบิน ในส่วนผู้ที่ไม่มีไข้ อาการไม่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ขอแนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หากป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่ามีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค ที่ด่านควบคุมโรคจะถูกส่งตัวไปตรวจเพิ่มที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงเข้มการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค ทั้งผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
ขณะนี้ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 จำนวน 35 คน กลับบ้านแล้ว 17 คน ยังนอนรักษาที่โรงพยาบาล 18 คน โดยมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 2 คน ที่สถาบันบำราศนราดูร
รายที่ 1 ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ในวันนี้ อาการดี ทำตามคำสั่งได้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้ผลลบ
รายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ โดยทั้ง 2 คน ได้รับยา Favipiravir ครบ 5 วันแล้ว