วันนี้ (8 ก.พ.2563)คณะกรรมธิการสาธารณสุขแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตรายใหม่อีก 86 คน ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาด ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มเป็น 722 คน มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์ส หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ที่เคยระบาดเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในจีนและฮ่องกงจำนวน 650 คน ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,399 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในจีนอยู่ที่ 34,546 คน
จีนยังดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด โดยใช้มาตรการปิดเมืองกับประชาชน 56 ล้านคนในมณฑลหูเป่ยและเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นต้นตอการระบาด ขณะที่อีกหลายเมืองที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางการระบาดต้องขอให้ประชาชนอยู่แต่ภายในบ้านและจำกัดจำนวนคนที่ออกมานอกบ้าน เพื่อหาซื้อสิ่งของจำเป็น
การระบาดของไวรัสยังแพร่กระจายออกไปในอีก 25 ประเทศ ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการป้องกันและรับมือการระบาด โดยห้ามการเดินทางผ่านเข้ามาจากจีนและเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปจีน
ขณะที่เกาะฮ่องกงคุมเข้มป้องกันการระบาดมากขึ้น ด้วยการออกกฏใหม่ว่าใครก็ตามที่เดินทางมาจากจีน จะต้องกักตัวเองอยู่ในห้องของโรงแรม หรือศูนย์กักโรคของทางการ ส่วนชาวฮ่องกงที่เดินกลับจีนจะต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน หากฝ่าฝืนจะถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยในฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อ 26 คนและมีผู้เสียชีวิต 1 คน
นอกจากนี้ยังพบการระบาดบนเรือสำราญไดมอนด์ ปริ้นเซส ที่ถูกกักโรคอยู่ที่ท่าเรือเมืองโยโกฮามะ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อบนเรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเพียงข้ามคืนจาก 20 คนเป็น 61 คน
มีรายงานว่าผู้โดยสารที่อยู่บนเรือจะต้องอยู่ภายในห้องนานถึง 23 ชั่วโมงในแต่ละวัน และได้รับอนุญาตให้ออกมาสูดอากาศภายนอกได้คนละไม่ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังจะต้องอยู่ห่างในระยะ 3 ฟุตและสวมหน้ากากอนามัย โดยผู้โดยสารหลายพันคนและลูกเรือของเรือสำราญลำนี้จะถูกกักโรคอยู่บนเรือเป็นเวลา 14 วัน
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แถลงว่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็เตือนว่าตัวเลขดังกล่าวอาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีก
นายทีโดรส ยังแสดงความวิตกที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเผชิญปัญหาจากการขาดแคลนอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์ดังกล่าวที่เพิ่มสูงไม่ว่าจะเป็นเสื้อคลุม ถุงมือ และหน้ากากอนามัย โดยความต้องการเพิ่มสูงกว่าในช่วงปกติถึง 200 เท่าและราคาสูงถึง 20 เท่า พร้อมทั้งชี้ว่าการขาดแคลนดังกล่าว เกิดจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างไม่เหมาะสมในวงกว้าง แทนที่จะใช้ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ แต่มีการฉวยโอกาสทำกำไรจากช่วงภาวะวิกฤต