ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิจัยอ้างประตูโลหะทองแดง ลดการแพร่เชื้อโคโรนา

สังคม
5 ก.พ. 63
11:43
2,468
Logo Thai PBS
วิจัยอ้างประตูโลหะทองแดง ลดการแพร่เชื้อโคโรนา
เพจเฟซบุุ๊กเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เผยแพร่ผลวิจัยต่างประเทศพบว่ากลอนประตู และที่จับประตูทำจากโลหะผสมทองแดง สามารถลดการแพร่เชื้อโรคติดต่อจากคนสู่คนได้ มีผลวิจัยห้องไอซียูในโรงพยาบาลที่เปลี่ยนใช้ลดคนไข้ติดเชื้อได้ 58%

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งทำให้หลายคนกังวลต่อการติดเชื้อผ่านของใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิด กลอน ประตู ลิฟท์ รถขนส่งมวลชน ล่าสุด วันนี้ (5 ก.พ.2563) เพจเฟซบุุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ได้โพสต์ข้อมูลน่าสนใจว่า กลอนประตูหรือที่จับประตูที่ทำจากทองเหลือง หรือโลหะที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ (copper alloy) ในสถานที่สาธารณะสามารถลดการแพร่เชื้อโรคติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ให้ข้อมูลว่า บ่อยครั้งที่กลอนประตู หรือที่จับประตู  สามารถที่จะเป็นแหล่งกระจายเชื้อโรคติดต่อ จากคนสู่คนในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สถานที่ทำงาน ห้องน้ำสาธารณะได้  เนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนในสถานที่นั้น ต้องใช้มือจับ เพื่อเปิดปิดประตูเข้าออกกันทุกคน  โดยที่เชื้อโรคบางชนิด สามารถที่จะมีชีวิตบนกลอนประตูนั้น เป็นเวลานานกว่า 30 วันกันเลยทีเดียว 

แม้ว่าจะมีการรณรงค์การล้างมือเปียก การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ ก็ยังทำให้เกิดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อได้อยู่ เนื่องจากว่าแต่ละคน ก็ไม่ได้มีการล้างมืออย่างถูกต้อง หรืออาจจะเผลอใช้มือป้องยามไอ จาม จนมีเชื้อโรคติดมือมาแพร่กระจายสู่ผู้อื่นแบบไม่รู้ตัว  โดยเฉพาะสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยอย่างสถานพยาบาลต่างๆด้วย

โลหะที่มีส่วนผสมของทองแดงอย่างเช่น ทองแดง (copper) ทองเหลือง (brass) หรือโลหะสำริด (bronze) มีบทบาทในการลดการติดต่อของโรคติดต่อ เนื่องจากว่าตัว โลหะทองแดงนั้นสามารถที่จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้หลายชนิด 

ผลวิจัยในโรงพยาบาลลดการแพร่เชื้อได้ 58%

เนื่องจากที่ผิวของอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะผสมทองแดงทั้งหลายนี้เกิดเป็นชั้นออกไซด์บางๆ ที่สามารถทำลาย  เชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็น E. coli O157:H7, methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA), Staphylococcus, Clostridium difficile, เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (influenza A virus), adenovirus, และเชื้อรา (fungi) เป็นต้น

มีผลการศึกษาว่า กลอนประตู และที่จับประตูที่ทำจากโลหะผสมทองแดง ที่ประตูหน้าห้องไอซียู ในโรงพยาบาล สามารถที่จะลดจำนวนคนไข้ติดเชื้อได้ถึง 58% เมื่อเปรียบเทียบกับโลหะสเตนเลส

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในสถานพยาบาลอีกหลายแห่ง ก็ยังพบว่าอุปกรณ์ต่างๆที่ทำจากโลหะผสมทองแดง สามารถที่จะลดอัตราการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน และเป็นการลงทุนครั้งเดียวแต่ได้ผลที่ยาวนานมาก 

ดังนั้นจึงพบว่าสถานพยาบาลหลายๆ แห่งนั้นก็มีการเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านี้เป็นโลหะผสมของทองแดงเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคด้วย

เพจเฟซบุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ระบุว่าที่น่าสนใจ ถ้าเป็นไปได้เราอาจจะต้องมีมาตรการการช่วยเหลือตัวเองตามบ้าน และสถานที่ทำงาน โดยการเปลี่ยนกลอนประตูที่จับประตู หรืออุปกรณ์โลหะอื่นๆที่เป็นจุดกระจายเชื้อโรคให้เป็นทองเหลือง ทองแดง โลหะสำริด กันก็ดี เพราะถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าโลหะสเตนเลส แต่ก็สามารถลดการแพร่กระจายโรคติดต่อได้ดีอีกทางหนึ่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม 

"Copper Surfaces Reduce the Rate of Health Care-Acquired Infections in the ICU", April 9, 2013; Science News, https://www.sciencedaily.com/releas…/2013/…/130409110014.htm Cassandra D. Salgado, Kent A. Sepkowitz, Joseph F. John, J. Robert Cantey, Hubert H. Attaway, Katherine D. Freeman, Peter A. Sharpe, Harold T. Michels, Michael G. Schmidt (2013); "Copper Surfaces Reduce the Rate of Healthcare-Acquired Infections in the Intensive Care Unit"; Infection Control and Hospital Epidemiology, May 2013

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง