วานนี้ (29 ม.ค.2563 ) กองบัญชาการควบคุมไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาค 3 ส่วนหน้า ประชุมผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง หลังสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบสุขภาพ เตรียมเพิ่มกำลังคน ตั้งศูนย์แก้ปัญหาไฟป่าใน จ.ลำปาง
พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาค 3 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและเเก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ระดับภาค ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อรับทราบนำเอาข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีมาสู่ผู้ว่าราชการทั้ง 17 จังหวัด รับฟังปัญหาไฟป่าในภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่างพื้นที่การเกษตรก็มีปัญหา จึงนำปัญหาทั้งหมดมารวมกันเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน
พล.ท.ฉลองชัย ระบุว่าจังหวัดลำปางปัจจุบันมีฝุ่นควันที่เพิ่มขึ้นสูง ในฐานะผู้ดูแลระดับภาค มีแนวคิดว่าจะตั้งส่วนแยกบางส่วนกองบัญชาการควบคุมไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาค 3 จ.เชียงใหม่ มาที่ จ.ลำปาง ในต้นเดือน ก.พ.หากสถานกาณ์ในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย ตอนนี้จะมีกำลังมาบูรณาการร่วมกันใช้กำลังของทหาร ส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสานอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนอากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาดูจุดความร้อนให้เป็นปัจจุบัน แทนดาวเทียม เพราะรอจุดความร้อนจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน และมีอากาศยาน 2 ลำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่จะสามารถนำน้ำมาดับไฟป่าได้โดยเฉพาะบริเวณยอดเขาสูง
นอกจากนั้น กรมป่าไม้ยังมีชุดไฟป่าจิตอาสาพระราชทาน นำกำลังเข้ามาเสริมที่ จ.ลำปาง โดยเป็นการเตรียมการเพราะฝุ่นควันจาก จ.ลำปาง อาจกระจายไปทั่วไปที่ จ.แพร่, จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน การมาปิดกั้นที่ จ.ลำปาง โดยปีนี้เริ่มมาเร็วมีการเตรียมการมา 3 เดือนเชื่อมั่นในผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดที่มาชี้แจง แต่ละจังหวัดสถานการณ์จะไม่เหมือนกันจะสามารถแก้ปัญหาบูรณาการได้
ส่วนที่ จ.ลำปาง ที่คุณภาพอากาศที่เกินส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาแล้ว 5 วัน แม่ทัพภาค 3 ระบุปัญหาเรื่องตัวชี้วัดเป็นปัญหาค่อนข้างมาก สมัยก่อนไม่มีเครื่องชี้วัด เช่น ในอดีตที่ จ.เชียงใหม่ ถ้าเห็นพระธาตุดอยสุเทพก็ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ปัจจุบันมีตัวเครื่องชี้วัดคุณภาพอากาศมีหลายยี่ห้อ มีทั้งมาตรฐานที่เชื่อถือได้ และที่รับข้อมูลข่าวสารมาจากที่อื่นทำให้เกิดความกังวล ตื่นตระหนกได้ ซึ่งเชื่อว่ากรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินการให้ใช้มาตรฐานอันเดียวกัน
ส่วนปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ และข้ามจังหวัด แม่ทัพภาค 3 ระบุว่า ที่ผ่านมาระดับชาติกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแล ในส่วนของภูมิภาค ท้องถิ่นมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) โดยมีการหารือและพูดคุยปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันโดยตลอด แต่ยอมรับวิถีการเพาะปลูกประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนยังใช้วิธีการเผา ได้มีการพูดคุยและเจรจาในช่วงวัน เวลาเผาเช่นเดียวโดยได้ผลค่อนข้างมาก ระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่น
ขณะที่ปัญหาหมอกควันข้ามจังหวัด ที่ผ่านมามีการพูดคุยกัน โดยเน้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ช่วงเวลาห้ามเผา และดูสภาพอากาศที่มาจากจุดต่างๆมาประกอบกันด้วย ส่วนศูนย์ที่จะตั้งที่ จ.ลำปาง ก็เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งที่จะป้องกันฝุ่นควันข้ามแดนไปจังหวัดอื่น ๆ
ส่วนกรณีที่มีการประชุมแผนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ให้มีการงดการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง แม่ทัพภาค 3 ยืนยันว่าที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดมีการสั่งการเป็นห่วงเวลา ปัจจุบันก็มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมฝุ่นมีการจับกุมตามกฎหมายต่างๆแล้วในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว 162 คน
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ระบุภาพรวมของไฟป่า และฝุ่นควันที่ จ.ลำปาง มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าหลังจากได้อากาศยานไร้คนขับ UAV มาช่วยประเมินจุดความร้อนเชื่อว่าจะทำให้ไม่ต้องรอข้อมูลจากดาวเทียม โดยจะสามารถจู่โจมเข้าบริหารจัดการไฟป่าได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่กำลังพลที่จะเข้าดับไฟสาเหตุของฝุ่นควันในพื้นที่ โดยจะมีกำลังกรมป่าไม้ 200 นายเข้าพื้นที่ ซึ่งจะแบ่งกำลังพลมาช่วยดับไฟเป็น 2 ส่วนที่ จ.ลำปาง 100 นาย ส่วนอีก 100 นายจะช่วยดับไฟที่ จ.แพร่ โดยจะเริ่มเข้าพื้นที่เสริมดับไฟป่าในวันนี้ (30 ม.ค.2563)
นอกจากนั้นการแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ยังมีจิตอาสาพระราชทานทุกท้องถิ่นจะมีประมาณ 50 คน ใน จ.ลำปาง มีรวมเกือบ 100,000 คน โดยเตรียมใช้จิตอาสามาช่วยลาดตระเวน ส่วนพื้นที่ภูเขาสูงเข้าถึงลำบาก เช่น บริเวณดอยพระบาท มีการฝึกจิตอาสาช่วยดับไฟ โดยปีนี้ จ.ลำปาง จะพยายามลดผู้ป่วยจากฝุ่นควันที่เมื่อปีที่ผ่านมามีจำนวนประมาณ 5,000 กว่าคน จะลดให้เหลือไม่เกิน 1,500 คน
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ย้ำว่าการแก้ปัญหาในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ความยากลำบากขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ที่ จ.ลำปาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่สูง การทำงานที่ผ่านมามีการตั้งจุดเจ้าหน้าที่ไว้บนพื้นที่สูง แต่ปัจจุบันพื้นที่ไฟไหม้ใน จ.ลำปาง ยังรุนแรงอาจไม่ถึง 100 จุดซึ่งอาจจะยังไม่มีการปรับแผน เมื่อมีไฟป่ารุนแรงอาจต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่บนพื้นที่สูง ส่วนพื้นที่ดอยพระบาท ที่เป็นจุดเฝ้าระวังไฟป่าอำเภอเมืองลำปาง ตอนนี้เมื่อเทียบกับพื้นที่ไฟป่าทั้งจังหวัดถือว่าไหม้เพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ป่าทั้งจังหวัด เพราะไฟป่าที่ไหม้มากส่วนใหญ่จะอยู่พื้นที่อำเภอตอนล่างจังหวัดที่แห้งแล้งก่อน เช่น อ.เถิน อ.แม่พริก ส่วนบริเวณดอยพระบาทมักจะเกิดไฟป่าหนักประมาณกลางเดือน ก.พ. แต่ขณะนี้ได้เตรียมการมาแล้ว 3 เดือนเชื่อว่ามีการทำความเข้าใจกับประชาชน และมีกำลังคนมาเพิ่มปีนี้เชื่อว่าจะพร้อมรับมือปัญหาไฟป่าบนดอยพระบาท ขณะเดียวกันก็ยังมีตัวแปรที่สภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ส่วนพื้นที่ จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่ โดยมาตรการตอนนี้ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ หากอุณภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสในช่วงเช้าให้มีการลดกิจกรรมลง และให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้มงวดตรวจโรงงาน
ด้านนายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ระบุว่า พื้นที่จังหวัดก่อนหน้านี้มีปัญหาการเผาไร่อ้อย ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน ที่ผ่านมามีการพยายามแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีกว่า 8 กว่าแสนไร่ ปัญหาที่พบก่อนหน้านี้คือพื้นที่ชุมชนจะประสบปัญหาฝุ่นควันจากการเผาตั้งแต่เดือน ธ.ค. - ก.พ. จังหวัดได้มีมาตรการที่สำคัญ เช่น การปรับแผนการตัดอ้อยของโรงงาน โดยมีการประชุมผ่านคณะกรรมการท้องถิ่น ผู้แทนชาวไร่อ้อย โรงงาน และราชการ กำหนดนำอ้อยสดเข้าโรงงานร้อยละ 60 และนำอ้อยที่เกิดจากการเผาร้อยละ 40 ซึ่งมากกว่า ครม.กำหนดไว้ 50 : 50 ล่าสุดกำลังพยายามแก้ปัญหาการเผาอ้อยโดยกำหนดตำบลโมเดลขึ้นมาแก้ปัญหา เรียกว่า สระแก้วโมเดล เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่อยู่ในเขตเมือง เช่น กำหนดให้เป็นพื้นรัศมี 5 กิโลเมตรห้ามให้มีการเผา 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านมา 2 ปีประสบความสำเร็จลดการเผาไปได้มาก โดยคาดว่าปี 2564 คาดว่าจะลดการเผาได้ทั้งหมด
สำหรับการประชุมครั้งนี้ถูกจับตาเพราะถือว่าเป็นเดินทางมาร่วมประชุมที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตัวแทน 17 จังหวัดมาประชุมบูรณาการแก้ปัญหาฝุ่นควันครั้งแรก ที่ผ่านมาแม่ทัพภาค 3 มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีการประชุมบูรณาการผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทุกสัปดาห์ และตระเวนจัดเวทีเพื่อระดมการบูรณาการแก้ปัญหาฝุ่นควันท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นควัน เช่น จังหวัดลำปาง แพร่ ที่ค่าฝุ่นยังเกิดค่ามาตรฐานมาแล้วหลายวัน