วันนี้ (28 ม.ค.2563) ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เตรียมลงพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจค้างคาวมงกุฎในไทย จำนวน 23 ชนิด ว่า มีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่
ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยเคยลงพื้นที่สำรวจเชื้อไวรัสในค้างคาวของไทย เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของโรคอุบัติใหม่ พบเชื้อโรคโคโรนามากถึง 300-400 ชนิด แต่ยังไม่พบการติดต่อสู่คน
ปัจจุบันทั่วโลกพบไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในคนได้ 7 ชนิด ซึ่ง 4 ชนิด ทำให้มีอาการโรคหวัด ส่วน 2 ชนิด เป็นไวรัสกลุ่มเบต้า หรือในกลุ่มโรคเมอร์ และซาร์ส ที่มีความรุนแรง และอีก 1 ชนิด คือ โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลทำให้เกิดปอดอักเสบ แต่ความรุนแรงของไวรัสชนิดนี้น้อยกว่าโรคเมอร์และซาร์ส เพราะเป็นคนละชนิด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุทยานฯ สั่งเฝ้าระวังถ้ำค้างคาว "ห้ามกิน-เลี่ยงสัมผัส"
ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาในจีนเพิ่มเป็น 82 คน
กต.ยืนยันคนไทยในอู่ฮั่นยังไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ขณะที่นายประทีป เหิมพยักฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ราชบุรี ขอความร่วมมือผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับเขาช่องพราน อ.โพธาราม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของค้างคาวมากกว่า 3 ล้านตัว ห้ามล่าค้างคาวอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคแล้ว ค้างคาวยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากใครฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท