ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยขั้นตอนการถอดรหัสพันธุกรรมของ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในงานเสวนาวิชาการ “Disease X : ปฐมบทไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ซึ่งจัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.สุภาภรณ์ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2010-2019 ประเทศไทยได้ร่วมกับอีก 31 ประเทศ ทำงานเพื่อศึกษาและค้นหาโรคอุบัติใหม่ ที่ยังไม่เคยติดต่อในมนุษย์ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตรวจพบไวรัสใหม่ 458 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคโรนาไวรัส ความหลากหลายของโคโรนาไวรัสมีความซับซ้อนสูง ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ง่าย
ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สำหรับการตรวจสอบผู้ป่วยที่สามารถยืนยันโรคได้ภายใน 2 วันนั้น ทีมวิจัยได้นำบทเรียนจากกรณีโรคเมอร์สระบาดเมื่อปี 2012 มาปรับใช้ โดยการตรวจด้วยวิธีปกติและตรวจสอบไวรัสที่รู้จักมาก่อน 33 ชนิด ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และตรวจเชื้อไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรนาไวรัสและอินฟลูเอ็นซา หลังจากเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จจึงนำไปเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก (Genbank) แล้วพบว่า ไวรัสดังกล่าวเหมือนกับ Bat SARS-like Coronavirus คือ เชื้อโคโรนาไวรัสในกลุ่มโรคที่คล้ายคลึงกับโรคซาร์สแต่พบในค้างคาว ต่อมาประเทศจีนได้ปล่อยรหัสพันธุกรรมออกมาจึงตรวจสอบต่อไป จนสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งตรงกับเชื้อที่พบในอู่ฮั่น 100 %
- วันที่ 8 ม.ค.2563 ตรวจตัวอย่างด้วยวิธี Viral Family PCR พบผลบวก Coronavirus แต่ยังระบุสายพันธุ์ไม่ได้
- วันที่ 9 ม.ค.2563 ผล next generation sequenee พบว่าเหมือนกับ “Bat SARS-like Coronavirus” ประมาณ 82-90%
- วันที่ 12 ม.ค.2563 ผล next generation sequenee ตรงกับเชื้อที่พบที่อู่ฮั่น 100%
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาฯ ยังได้ใช้เทคนิค NGS ก็ได้ผลการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ยืนยันว่า เชื้อโคโรนาไวรัสของผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย ตรงกับเชื้อที่เกิดในอู่ฮั่น 100% โดยเมื่อเปรียบเทียบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พบว่ามีเชื้อใกล้เคียงกับ Bat SARS-like coronavirus ZC45 ถึง 89.12% ซึ่งเป็นเชื้อที่เคยพบในค้างคาวที่ประเทศจีนมาก่อน เมื่อตรวจสอบเชื้อดังกล่าวพบว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้ มาจากค้างคาวมงกุฏซึ่งมี 2 สายพันธุ์ที่พบที่จีน
4 ปัจจัยเชื้อโรคจากสัตว์ป่าติดต่อสู่คน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่าติดต่อสู่คน ได้แก่
- ถิ่นอาศัยถูกบุกรุก ทำลาย หรือถูกรบกวน ทำให้สัตว์ป่าออกมาอยู่พื้นที่เดียวกับมนุษย์
- ภัยธรรมชาติที่ทำลายสมดุลของสภาพแวดล้อม
- อาชญากรรมสัตว์ป่า สัตว์ป่ามักถูกจับจากธรรมชาติทำให้เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสที่เชื้อโรคในร่างกายจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น
- การบริโภคสัตว์ป่า โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบอาหารที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ ของสัตว์ป่า
ทั้งนี้ ในสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการเชิงรุกในการศึกษาวิจัย สำรวจ และเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่โดยใช้วิธีการที่เหมาะสมยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมายหรือนโยบายในการจัดการด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่มีในขณะนี้ ผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มักเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนการติดต่อนั้นเกิดขึ้นในวงจำกัด ยังไม่มีการระบาดรุนแรงเหมือนโรคซาร์ส การป้องกันการติดเชื้อทำได้โดยหลีกเสี่ยงการสัมผัสบุคคลที่มีความเสี่ยง ล้างมือให้สะอาดและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน อย่างไรก็ตามควรติดตามข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลทางคลินิกของโรคนี้จากประเทศจีนหรือประเทศที่มีการรายงานต่อไป