จากรายงานองค์การอนามัยโลก(WHO) เรื่องการติดต่อของโรคภายในห้องโดยสารของเครื่องบิน ระบุว่า โอกาสในการติดเชื้อไวรัสจากการโดยสารด้วยเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำ โดยอ้างอิงจากผลการเก็บรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อกว่า 17 ปีก่อน
นอกจากนี้ยังระบุว่า ระบบกรองอากาศในเครื่องบิน ซึ่งใช้ระบบ HEPA สามารถกรองละอองที่มีขนาดอนุภาคได้เล็กถึง 0.3 ไมครอน ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเชื้อไวรัส,แบคทีเรียและฝุ่น จะไม่สามารถผ่านแผ่นกรองได้ นอกจากนี้ในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆยังมีการใช้อากาศหมุนเวียนจากภายนอก 20-30 ครั้งต่อชั่วโมง และอัตราส่วนระหว่างอากาสเดิมกับอากาศใหม่จากภายนอก 50 : 50 ซึ่งจะช่วยทำให้อากาศในห้องโดยสารสะอาดยิ่งขึ้น
นั่งห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตรโดยไม่ป้องกัน มีโอกาสได้รับเชื้อ 80%
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริด้า เมื่อ 2560 พบว่า หากมีผู้โดยสารคนหนึ่งบนเครื่องบินติดเชื้อไวรัส โอกาสที่ผู้โดยสารที่อยู่ในรัศมีประมาณ 1 เมตร (3.2 ฟุต) มีโอกาสได้รับเชื้อสูงถึง 80% งานวิจัยนี้ยังเผยให้เห็นถึงการแพร่กระจายของเชื้อในระยะดังกล่าว โดยระบุกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ คือผู้โดยสารที่นั่งแถวหน้าและแถวด้านหลังผู้โดยสารที่มีเชื้อคนดังกล่าว รวมถึงที่นั่งข้างๆถัดไปอีก 2 ตัว และแม้จะมีทางเดินกั้นอยู่ ผู้โดยสารที่นั่งอีกฝั่งก็มีโอกาสได้รับเชื้อเช่นเดียวกัน
ส่วนผู้โดยสารที่นั่งไกลจากจุดที่ผู้ติดเชื้อนั่งอยู่ จะมีโอกาสได้รับเชื้อน้อยลงไปตามระยะห่าง โดยจุดที่ไกลสุดอาจมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อเพียง 3% เท่านั้น
ทำไมระยะห่างจึงมีผลต่อการได้รับเชื้อทั้งที่อากาศภายในห้องโดยสารหมุนเวียน ?
สาเหตุที่โอกาสในการได้รับเชื้อมีอัตราส่วนที่ต่างกันมา เนื่องจากผู้ที่ได้รับเชื้อบนเครื่องบินส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากสูดอากาศที่มีละอองของเชื้อเข้าไป แต่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น กรณีที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามออกมา ละอองที่ลอยอยู่ในอากาศจะถูกดูดเข้าไปในระบบกรองอากาศ ซึ่งจะไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ แต่จะมีบางส่วนที่ไปติดตามถาดวางอาหาร ที่พักแขน และที่นั่ง ซึ่งผู้ที่นั่งใกล้ มักมีโอกาสไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่า
งานวิจัยนี้ยังพบว่าการลุกจากที่นั่งไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อในช่วงเวลาเฉลี่ย 5 นาทีที่ไม่ได้อยู่กับที่ผ่านการสัมผัสที่นั่งคนข้างๆขณะลุกจากที่นั่ง และภายในห้องน้ำ
ดังนั้น จึงมีคำแนะนำหากต้องโดยสารเครื่องบินในระยะนี้ จึงต้องเตรียมความพร้อมด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงการสัมผัสในจุดที่ไม่จำเป็น และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยตั้งแต่สนามบิน เพื่อลดความถี่ในการลุกจากที่นั่ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสหากมีเชื้อ
เฌอศานต์ ศรีสัจจัง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เรียบเรียง
อ้างอิง : https://www.who.int/ith/mode_of_travel/tcd_aircraft/en/
https://www.pnas.org/content/115/14/3623