อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โพล เผย คนกรุงมองหน่วยงานรัฐไร้ประสิทธิภาพแก้ "วิกฤตฝุ่น"
คนกรุงอ่วม! ลมสงบ-เจอภาวะ "ฝาชีครอบ" ทำฝุ่นสะสม
เรียกร้องหยุดเผาไร่อ้อยใน จ.สระแก้ว
โซเชียลเดือด! กระทุ้งรัฐเร่งสางฝุ่นพิษ - แนะกทม.ปิดโรงเรียน
วันนี้ (18 ม.ค.2563) เฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว ได้เผยแพร่รูปภาพเด็กที่มีอาการปากบวม มีผื่นแดงตามลำตัวและแขน รวมถึงการเสมหะและน้ำมูกเป็นสีแดงคล้ายผสมเลือด พร้อมเขียนข้อความ ระบุว่า เตือนภัย PM2.5 เกินมาตราฐาน เมื่อวานอยู่เวรนอน รพ. เป็นวันที่ค่า PM2.5 สูงมาก เกือบ 150-200 เห็นผลเลย เป็นวันที่เด็กป่วยระบบทางเดินหายใจเยอะมาก
- ไข้หวัด คัดตมูก ไอ น้ำมูกไห ตาแดง คัน จาม ไอเป็นเลือดมีเสมหะปน
- หอบหืดกำเริบ หายใจเร็ว
- หลอดลมกำเริบ. อักเสบ
- อาการแพ้ ลมพิษ ผื่นนูนแดง คัน ปากบวม ผิวหนังผื่นแพ้
แนะนำ
- หลีกเลี่ยงออกนอกบ้าน ถ้าไม่จำเป็น งดกิจกรรมนอกบ้าน
- จำเป็นต้องออก ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
- ควรเช็คสภาพอากาศ เครื่องวัด PM เครื่องกรองอากาศเครื่องฟอกอากาศ
- จิตสาธารณะ งดเผาหญ้า สร้างมลพิษ งดจุดไฟ งดจุดธูปเทียน
ฝุ่นPM 2.5 กระตุ้นการเกิดผื่นคัน ทำร้ายเซลล์ผิวโดยตรง
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นละอองในอากาศเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลกและกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑลและอีกหลายจังหวัด ซึ่งนอกจากจะทำให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผิวหนังด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติไป ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
กรมควบคุมโรคแนะดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ
ขณะที่ นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากกรณีที่พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดดำเนินการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
เนื่องจากค่า PM 2.5 ในแต่ละจุดในแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ ได้แก่
- ตำแหน่งที่อยู่อาศัยหรือตำแหน่งที่ทำกิจกรรม
- ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส
- ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง เช่น ออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำงานกลางแจ้งจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับ PM 2.5 มากกว่า กลุ่มคนที่ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือทำงานในอาคาร
- ปัจจัยเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด ภูมิแพ้ หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
นพ.ขจรศักดิ์ ระบุอีกว่า สำหรับประชาชนที่มีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ขอให้สังเกตอาการ ดังนี้
- กลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
- กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ ดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด ปิดประตู/หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณหรือเส้นทางที่มีฝุ่นขนาดเล็กหนาแน่น
หากจำเป็นควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด โดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก และที่สำคัญควรสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ควรป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก แว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่น เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและผิวหนัง