หลังถูกถามถึงประสิทธิภาพการทำงาน ที่แทบจะไม่เห็นสัญญาณการรับมือในช่วงที่คนกรุงเจอวิกฤตฝุ่นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เมื่อวานนี้ (14 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมายืนยันชัดเจนอีกครั้งว่า รัฐบาลพยายามเร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกทาง ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การเร่งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนป้องกันตนเอง และการขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา จึงไม่ควรจ้องตำหนิรัฐบาล
ท่านต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ท่านเอานี้มาตี บอกว่าทั้งหมดนี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ เสี่ยง อันตราย ห้าม อย่าไปเที่ยวงาน แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้จะให้ปิดบัง ไม่เคยปิดบัง ดาวน์โหลดเอาสิถ้าอยากจะรู้ ป้องกันตัวเองให้ได้ก่อน และก็ต้องช่วยกันลดปริมาณการใช้รถ
พร้อมย้ำว่า รัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยรัฐบาลก็จัดสรรงบประมาณในเรื่องนี้แบบบูรณาการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด
การทำงานแบบบูรณาการ คือ ทุกหน่วยงานที่มีกิจกรรมร่วมกัน จะต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา โดยมีเจ้าภาพหลัก ถ้าไม่มีงบฯ ตรงนี้ ก็แบบเดิม ก็อยู่ที่นั่นที่นี่ กระทรวงเดียวทำไหวไหมล่ะ มันมีหลายกระทรวงเกี่ยวข้องไม่ใช่เหรอ รัฐบาลนี้ที่ให้มีงบบูรณาการ มันได้ทั่วถึง ไม่อย่างนั้นก็ลงเฉพาะพื้นที่อย่างที่เคยเป็นมา
งบฯ แก้ฝุ่น 2563 บูรณาการแล้วจริงหรือ?
แม้นายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่า ได้จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบบูรณาการ แต่เมื่อตรวจดู ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พบว่า งบแก้ฝุ่นยังกระจายในหลายมาตรา หลายหน่วยงาน ไม่ได้รวมไว้ที่งบฯ บูรณาการอย่างที่นายกรัฐมนตรีระบุ
โดยงบฯ บูรณาการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง คือ มาตรา 39 ของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในหมวด “แผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม” โดยงบประมาณในส่วนนี้ เน้นการนำไปใช้แก้ปัญหามลพิษจากขยะและมลพิษทางอากาศ บูรณาการการทำงาน 6 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง โดยมี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ
แต่นอกจากมาตรา 39 ยังพบการจัดสรรงบฯ แก้ฝุ่น PM 2.5 ไว้อีก 4 มาตรา คือ มาตรา 8 ในงบฯ ของกระทรวงกลาโหม จัดสรรให้กองทัพบก จำนวน 121,181,100 บาท
มาตรา 17 งบฯ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสรรให้สองหน่วยงานคือ สำนักงานปลัดกระทรวง และกรมควบคุมมลพิษ รวมเป็นเงิน 22,464,000 บาท
มาตรา 26 ในงบฯ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 37,323,100 บาท , และ มาตรา 28 งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ และตาก จำนวน 97,437,300 บาท รวมงบประมาณที่ไม่อยู่ในงบบูรณาการ 278,405,500 บาท
อ่านเพิ่ม : ส่อง "แผนปฏิบัติการฝุ่น" งบฯ อยู่ตรงไหน
งบฯ แก้ฝุ่นนอกแผนบูรณาการ มีมากถึง 278 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนงบฯ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในแผนบูรณาการกับงบฯ ที่อยู่นอกแผน พบว่า งบประมาณที่อยู่นอกแผนบูรณาการมีจำนวนมากกว่าถึง 278,405,500 บาท นอกจากนี้ยังมีบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ที่จัดสรรงบฯ ไว้ทั้งในและนอกหมวดแผนบูรณาการ ขณะที่มีอีกมากกว่า 10 หน่วยงาน ที่ถูกจัดสรรงบฯ ไว้นอกแผนบูรณาการ
นอกจากนี้ งบประมาณแก้ฝุ่น PM 2.5 อาจถูกจัดสรรไว้ในหมวดอื่นอีก เพราะแม้ในเอกสารงบประมาณ จะมีการลงรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณไปถึงระดับโครงการและกิจกรรม แต่หลายหน่วยงาน ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดของการดำเนินการทั้งหมด ทำให้การตรวจสอบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในหน่วยงานใดบ้างนั้นเป็นไปได้ยาก หากหน่วยงานนั้นไม่ระบุให้ชัดเจนว่า เป็นงบประมาณที่นำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือเคยปรากฏข่าวทางสาธารณะว่า หน่วยงานนั้นจะใช้เงินจากหมวดไหนดำเนินการ
จัดสรรงบฯ แก้ปัญหาฝุ่นจากการเผามากกว่าแหล่งกำเนิดอื่น
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ระบุว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 มาจาก 5 แหล่งสำคัญ ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดน โดยสภาพความรุนแรงของปัญหาฝุ่นในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สัมพันธ์กับลักษณะของพื้นที่ ทำให้การจัดการปัญหาฝุ่นที่แหล่งกำเนิดต้นทาง เป็น 1 ใน 3 มาตรการสำคัญ ที่แผนปฏิบัติการระบุว่าต้องเร่งดำเนินการเช่นเดียวกัน
แต่เมื่อดูในรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ พบว่า งบฯ ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปใช้แก้ปัญหาไฟป่าและการเผาป่าในพื้นที่เกษตร โดยพบการจัดสรรงบฯ ในส่วนนี้มากถึง 290 ล้านบาท จากงบฯ ทั้งหมดที่ถูกจัดสรรแก้ปัญหาฝุ่น 363 ล้านบาท แยกเป็นงบฯ ไฟป่าประมาณ 235 ล้านบาท และเป็นงบฯ ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร 54 ล้านบาท
ขณะที่พื้นที่ใช้งบประมาณในส่วนนี้กระจุกตัวอยู่ที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งที่ปัญหาฝุ่นควันในประเทศไทยเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ผลัดเปลี่ยนกันเกือบตลอดทั้งปี
ส่วนหน่วยงานที่ถูกจัดสรรงบฯ เพื่อดำเนินการในส่วนนี้ มีทั้งกองทัพบก ซึ่งดำเนินการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ, 2 หน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สำนักงานปลัด และกรมควบคุมมลพิษ, งบประมาณของกล่มจังหวัดและ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน, และอีกสองหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร
ขณะที่งบประมาณที่ถูกจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นที่แหล่งกำเนิดต้นทางประเภทอื่น กลับมีสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยพบว่ามีการจัดสรรงบฯ ให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาและใช้นวัตกรรมลดมลพิษภาคอุตสาหกรรมประมาณ 37 ล้านบาท, จัดสรรงบฯ ให้แก่กรมควบคุมมลพิษ 2 โครงการ คือ โครงการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศและเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เขตควบคุมมลพิษอีก 2 แห่ง คือ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง และ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ประมาณ 27 ล้านบาท และโครงการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะ 1 ล้าน 5 แสนบาท และโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพจากมลพิษทางอากาศของกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 6 ล้านบาท
อ.หน้าพระลาน จ.สระบุรี
อ่านเพิ่ม : ชงครม.เคาะ 4 มาตรการสู้ฝุ่น PM 2.5 บังคับรถบรรทุกห้ามวิ่งวันคี่
การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่วิกฤตให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่หากการจัดสรรงบประมาณยังแยกส่วนไปแต่ละหน่วยงาน ก็จะมองไม่เห็นความเชื่อมโยงประสานกันทั้งการรับมือในช่วงเผชิญเหตุและวางระบบแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิดฝุ่น และทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นได้อย่างแท้จริง
ทีมข่าววาระทางสังคม