ที่นาผืนนี้ถูกทิ้งไว้ในสภาพนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่ตอนนี้ ฟางข้าวและตอซังจากการเก็บเกี่ยว ถูกไถกลบด้วยผานติดรถไถชนิดพิเศษ ทำให้ดินและฟางผสมรวมกัน
ศักดิ์ชาย แป้นไพศาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บอกว่า นี่คือวิธีจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรของชาวนาบ้านห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ แทนการเผา โดยในช่วง 4 เดือนระหว่างรอปลูกข้าวนาปี ชาวนาที่นี่จะเลือกปลูกข้าวระยะสั้นเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยจะใช้ปุ๋ยที่ได้จากการไถกลบฟางข้าวจนย่อยสลายซึ่งจะช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน และทำให้ต้นข้าวสมบูรณ์ แข็งแรง และแตกกอได้ดี ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนโดยเฉพาะปุ๋ยที่ใช้น้อยลง แต่ยังได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับนาที่เผาฟางข้าวและตอซัง
ผลผลิตนี่วัดกันแบบของจริงกันเลย ผมเคยทำนาข้าวมะลิ เป็นข้าวนาปี ถ้าได้ไร่ละ 500 กิโลกรัม ถือว่าเยี่ยม ซึ่งตอนนั้นคือตอนที่เผา แต่พอปรับมาใช้วิธีการฝังกลบแทนการเผา ข้าว 1 ไร่ ได้ข้าว 83 ถัง หรือคิดเป็น 800 กว่ากิโลกรัม
อำนาจ บุญนะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บอกว่า ปีนี้ เป็นปีที่ 3 แล้วที่ท้องทุ่งกว่า 17,000 ไร่ของบ้านห้วยถั่วเหนือ ปลอดจากการเผา ซึ่งปัจจัยหลักที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยน คือ การเคารพในธรรมนูญชุมชน ที่ผู้นำและชาวบ้านร่วมกันกำหนดขึ้นด้วยวิธีการเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจให้เข้าถึงเงินทุนการผลิต สิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ จากกองทุนของชุมชน รวมทั้งใช้มาตรการทางสังคมช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวัง
เดิมในช่วงเดียวกันนี้ในปีก่อน ๆ แถวนี้จะดำไปทั้งทุ่งจากการเผา ควันก็ฟุ้งกระจายไปทั่วตามทิศทางลม มวลของเศษฟางที่เผาแล้ว จะลอยไปตกตามบ้านคน แต่พอเปรียบเทียบปีนี้ เห็นความแตกต่าง ปีนี้ไม่มี
ไม่เฉพาะการฟื้นฟูดินให้กลับมามีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ผลพลอยได้ที่คือ การได้รับการยอมรับในฐานะชุมชนที่ช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ จ.นครสวรรค์ เผชิญกับการเผาในหลายพื้นที่ ชาวนาที่นี่เชื่อว่า หากภาครัฐให้การสนับสนุนด้านปัจจัย และเครื่องมืออุปกรณ์กับชุมชนให้ใช้วิธีไถกลบแทนการเผา จะเป็นอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นที่ต้นทางได้