ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงเดือนธันวาคม เริ่มมีสัญญาณเตือนเกินค่ามาตรฐาน ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าที่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งเตือนให้ประชาชนป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยังคงใช้เกณฑ์เดิม คือ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตัวเลขค่านี้ ยังเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการยกระดับการทำงานแก้ปัญหาของหน่วยงานต่าง ๆ ตาม “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระชาติ การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง” ซึ่งล่าช้าเกินไป และอาจจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพกับประชาชน
กรีนพีซเสนอรัฐบาลใช้ตัวเลขค่าฝุ่น PM 2.5 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มาแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังด้านสุขภาพทันที โดยไม่จำเป็นต้องปรับค่าเกณฑ์มาตรฐานตอนนี้ก็ได้
หากดูในมุมมองสุขภาพ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ระดับไหนก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การตั้งรับที่ 50 มคก./ลบ.ม. เป็นการตั้งรับที่ชะล่าใจเกินไป
ด้าน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันว่า เกณฑ์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นไปตามคำแนะนำของ WHO สำหรับประเทศไทย หากการแจ้งเตือนใช้ค่าต่ำกว่านี้ เกรงว่า ประชาชนจะเกิดความแตกตื่น และไทยยังไม่มีความพร้อมในการจัดการปัญหานี้
หากปีนี้เราบอกใช้เกณฑ์ที่ 37.5 จะเกิดการตระหนก โกลาหล ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักเพราะมันอยู่ในมาตรฐานอยู่ กระทรวงสาธารณสุขบอกแบบนั้น ซึ่งเรารับฟังทุกความคิดเห็น แต่ก็ต้องดูบริบทของไทยด้วย
ตาม “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ระบุไว้เพียงว่า ให้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการปรับค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงตามเป้าหมายระยะที่ 3 ของ WHO คือ ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ภายในปี 2565 - 2567
ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 อย่างประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มีแผนจะปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ให้ลดลงอยู่ที่ระดับ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ในปี 2563