หลังจาก ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีการปลูกอ้อยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเกือบ 8 แสนไร่ เพื่อสำรวจมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลเซต ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา
พบว่า ยังมีเกษตรกรที่ตกหล่นไม่ได้ขึ้นทะเบียนเข้ารับการอบรมและทดสอบ ก่อนได้รับใบอนุญาตเพื่อซื้อสารเคมีเกษตร ขณะที่ ร้านขายสารเคมีเกษตรบางแห่งไม่ได้ขอดูเอกสารจากเกษตรกรว่า ได้รับอนุญาตการซื้อและใช้ตรงกับ มาตรการที่กำหนดไว้ หรือไม่
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนว่า กลไกในการจัดการตามมาตรการนี้มีปัญหา ทั้งที่การจำกัดการใช้ เป็นเรื่องเก่าที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่มีมติไม่แบนทั้ง 3 สาร และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดทำแผนจำกัดการใช้
กระทั่ง ต้นปีที่ผ่านมา (14 ก.พ. 2562) คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยืนยันตามมติเดิม และนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้มงวดในการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อลด ละ เลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด
ผมว่า ต้องจริงจังตั้งแต่การบันทึกข้อมูลเพื่อแสดงปริมาณการใช้สารเคมีเหล่านี้ในระดับภาพรวมของประเทศ รายจังหวัด และถ้าย่อยลงถึงระดับแต่ละพื้นที่แต่ละหมู่บ้านได้ยิ่งดี
นอกจากนี้ ยังต้องมีการบันทึกการซื้อขายที่ชัดเจนตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบมาตรการนี้ ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด อบต. ที่มีอำนาจในการตรวจสอบ กลับไม่ได้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องสารเคมี จึงอาจจะต้องมีผู้ที่มีความเข้าใจ หรือภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้ เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบมาตรการด้วย
อาจารย์เดชรัต ยังเสนอให้มีการสุ่มตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะร้านจำหน่ายสารเคมีเกษตร ว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้ หรือไม่ ซึ่งข้อเสนอนี้ไม่ได้เป็นการจับผิด แต่เป็นการทำให้ มาตรการที่วางไว้ เดินหน้าตามเป้าหมายได้จริง
ทั้งนี้ มาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิดตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 จะครอบคลุมตั้งแต่ เกษตรกรผู้ใช้ ต้องแจ้งพื้นที่ และพืชที่จะใช้สารเคมีเกษตร โดยผู้ใช้จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบ จึงจะได้รับใบอนุญาตเพื่อซื้อสารเคมีได้ ขณะที่ ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ก็ต้องผ่านการอบรม มีใบอนุญาตพ่นสารเคมี แต่ต่างจากเกษตรเจ้าของพื้นที่ คือ ไม่สามารถซื้อสารเคมีเองได้
ด้าน “ผู้ขาย” ต้องขออนุญาตมีสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไว้ในครอบครองเพื่อขาย รวมถึงต้องผ่านการอบรม แจ้งปริมาณการขาย และสต๊อกสารเคมี ที่สำคัญ คือ สามารถขายให้กับเกษตรกร ที่แสดงหลักฐานผ่านการทดสอบ อบรม และใช้ในพืชที่กำหนดเท่านั้น ส่วน “ผู้นำเข้าและผู้ผลิต “ ต้องแจ้งปริมาณการนำเข้า หรือผลิต และสต๊อกสารเคมี 3 ชนิด โดยคำสั่ง ได้ให้อำนาจ “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.” ที่ผ่านการอบรม มีหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบการใช้สารเคมีในท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ