ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หมอเด็ก แนะ "รับฟัง-เข้าใจ" ลดกลั่นแกล้ง

สังคม
19 ธ.ค. 62
14:17
1,662
Logo Thai PBS
หมอเด็ก แนะ "รับฟัง-เข้าใจ" ลดกลั่นแกล้ง
"พญ.จิราภรณ์" แนะผู้ปกครอง ครู เป็นด่านแรกรับฟังปัญหาลดเด็กถูก "กลั่นแกล้ง" ในรั้วโรงเรียน พร้อมเพิ่มทักษะการให้เพื่อนได้ช่วยเพื่อนไม่ให้ใครโดนแกล้งอีก

จากกรณีเหตุการณ์ นักเรียน ม.1 ทำร้ายเพื่อนนักเรียนจนเสียชีวิตเพราะถูกล้อ ขณะที่เด็ก ป.5 ผูกคอทำร้ายตัวเอง เพราะถูกกลั่นแกล้ง ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่างสถานที่ต่างเวลากันแต่จุดหนึ่งที่คล้ายกัน น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ คือ การถูกรังแก จากคำพูดหรือ การกระทำ นำไปสู่ความคับข้องใจ ความเครียด และความโกรธแค้น และเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ควรเพิกเฉย 

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า เด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง รังแก แล้วมาก่อเหตุ อาจจะเป็นเหตุรุนแรงกับคนอื่น หรือเหตุรุนแรงที่เกิดกับตัวเอง ต้องกลับไปดูที่ต้นเหตุด้วยว่าทำไมเด็กจึงหาทางออกไม่เจอ ทำไมพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ ครูจึงไม่ได้รับสัญญาณก่อนหน้านี้ว่าเขากำลังได้รับความทุกข์ทรมานทางใจ จนหาทางออกไม่ได้ 

การจบชีวิตตัวเองหรือการทำร้ายคนอื่น ไม่มีใครอยากให้เกิด คำถามคือ ระหว่างนี้คนที่ดูแลช่วยเหลือเขา ทำอะไร อยู่ที่ไหน ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าทางออกคือความตายเท่านั้น ไม่ว่าของใครคนใดคนหนึ่ง 

พญ.จิราภรณ์ ยกกรณีจากการทำงานเป็นที่ปรึกษาใน "โครงการไม่รังแกกัน" ซึ่งทำงานกับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร พบปัญหาที่คล้ายๆ กัน คือ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการล้อ แกล้ง รังแก ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นแค่การเล่นกันของเด็กๆ บางครั้งก็จบด้วยการสรุปกับเด็ก ง่ายๆ ว่า ก็แค่อย่าไปสนใจ

การถูกล้อ ถูกแกล้ง ของเด็กวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวัยที่กำลังพัฒนาอัตลักษณ์ตัวเอง เด็กก็ไม่อยากที่จะมาเจอความเครียดทุกวันในการมาโรงเรียน เด็กหลายคนเติบโตมาด้วยความอึดอัด คับข้องใจ

หลายครั้งพบว่า "ครู" เองอาจเป็นต้นแบบของการล้อแกล้งในโรงเรียนด้วย ครูบ้างคนเรียกเด็กด้วยคำพูดที่รุนแรง และทำให้เกิดการขบขันในหมู่เพื่อน บางคนอัดคลิปโพสต์ลงโซเชียสเป็นที่สนุกสนาน หลายครั้งผู้ใหญ่เองก็ไม่เข้าใจ เรื่องของการล้อ แกล้ง รังแก 

นอกจากนี้ ยังพบว่าวิธีการแก้ปัญหาของโรงเรียน หลายครั้งจบลงด้วยการ "ทำโทษ" เด็กที่ไปล้อเพื่อนถูกทำโทษ สิ่งนี้ไม่ใช้ทางแก้ให้ปัญหาลดลง เด็กที่ถูกทำโทษหลายครั้งมีความแค้นเพิ่มขึ้น และกลับไปจัดการเด็กที่มาฟ้องครู บางคนหวังดีกับเพื่อนแต่กลับถูกประจานเพราะว่าไปฟ้องครู ดังนั้นการทำโทษ ทำให้เด็กฟ้องครูมากขึ้น แต่ปัญหากลับไม่ถูกแก้ แต่สิ่งที่ครู หรือ โรงเรียน ควรจะต้องทำ คือ ให้มีมาตรการชัดเจน ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

รับฟังช่วยเหลือเด็กไม่ให้ถูกรังแก ?

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ผู้ปกครองก็ต้องรับฟังเด็กให้มากขึ้น อย่ามองว่าเป็นแค่การเล่นกันของเด็ก หรือใช้คำพูดว่า "อย่าไปสนใจเขา เราก็แค่เฉยๆ ไป" อย่างนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เด็กหลายคนหลีกเลี่ยงบ้างสถานการณ์ไม่ได้ เช่น โดนเพื่อนเข้ามาตบหัวทุกวัน อย่ามองปัญหานี้เป็นเรื่องเล็ก อย่าบอกให้นเดี่ยวมันก็ผ่านไป ต้องคิดว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง


มาตรการการช่วยเหลือที่ว่าไม่ใช่ แค่การลงโทษเด็กที่กระทำผิด เด็กที่ล้อ แกล้งเพื่อนก็เป็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน เด็กหลายคนมีปัญหามาจากบ้านที่ใช้ความรุนแรง สิ่งเรานี้จะช่วยเขาได้ก็ต้องหาสาเหตุให้เจอ เพื่อจะได้เข้าไปแก้ปัญหาให้ถูกจุดไม่ใช่จบที่การทำโทษทำทัณฑ์บนปัญหาจะได้จบปัญหามันไม่เคยถูกแก้ เพราะฉะนั้นมันจะยังไม่จบ สิ่งที่โรงเรียนควรทำคือ การทำให้เด็กที่แกล้งคนอื่นได้รับการช่วยเหลือ


ขณะที่ ครูก็ควรจะทำความเข้าใจว่า "การเล่น" กับ "แกล้งรังแก" มันเป็นคนละเรื่องเด็กสองคนเล่นกันไม่มีใครจะมีอำนาจเหนือกัน เมื่อไรก็ตามที่ไม่เป็นอย่างนั้นอีกฝ่ายเริ่มรู้สึกไม่สนุก อึดอัด คับข้องใจนั้นไม่ใช่การเล่น นั้นคือ การแกล้งรังแก

นอกจากนี้ สิ่งที่ครูจะช่วยได้ คือ ควรฟังทั้ง เด็กที่ถูกรังแก และเด็กที่ไปรังแกคนอื่น อย่างจริงจัง มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เกิดการแกล้ง 

 

ดึงเพื่อน เป็นผู้ช่วยลดการแกล้ง ?

พญ.จิราภรณ์ ยกงานวิจัยจากต่างประเทศ มาอธิบายว่า หากเข้าไปพัฒนาทักษะให้กับ "คนดู" คือ เพื่อนทั้งหลาย จะช่วยลดการล้อ แกล้งกันภายในโรงเรียนได้ดีขึ้น แทนที่จะไปยืนเชียร์ หรือยืนแบบห่วงเพื่อนแต่ช่วยอะไรไม่ได้ เขาจะทำอย่างไรได้บ้าง เมื่อเห็นเพื่อถูกแกล้ง 

ปัจจุบันยังไม่มีการเรียนการสอน หรือ หลักสูตรที่ช่วยพัฒนาเด็กที่เป็นคนดู เด็กหลายคนก็เห็นเพื่อนถูกแกล้งแต่ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย เลยทำให้เด็กกลุ่มอยู่แบบวางเฉยหลายคนเห็นความรุนแรงบ่อยๆ ก็สนุกด้วยซ้ำ สิ่งที่โรงเรียนทำได้ก็คืออาจช่วยพัฒนาเด็ก เป็นคนดูทั้งหลาย ให้มีทักษะในการที่จะช่วยเหลือเด็กที่ถูกแกล้ง เพราะหลายครั้งเหตุการณ์มันไม่ได้เกิดตอนครูอยู่


นอกจากนี้ คนรอบข้างทุกคนก็มีส่วนสำคัญ ในการล่อ แกล้ง รังแก เพราะทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ มีการบูลลี่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เด็กเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคม

หลังเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว เชื่อว่าเป็นบาดแผลในใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งฝ่ายเด็กผู้เสียชีวิตและเด็กที่กระทำ รวมไปถึงเพื่อนๆ และบุคคลรอบข้าง พญ.จิราภรณ์ จึงแนะนำให้ผู้เชียวชาญเข้าไปประเมินสภาพจิตใจ กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ว่าอยู่ในภาวะใด 

เหตุการณ์นี้ สะท้อนว่าควรมีการแนวทางหรือมาตรการบางอย่างที่ทำให้เกิดความปลอดภัยในโรงเรียนมากขึ้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอเดว" แนะ บ้าน-ร.ร.-ชุมชน เร่งสร้างภูมิ ลดเด็กพันธุ์ใหม่

ครูฝ่ายปกครองระบุ นร.ยิงเพื่อนเลียนแบบเกม หลังถูกบูลลี่หนัก

สธ.ส่งทีมดูแลนักเรียน-ผู้ปกครองกรณียิงในโรงเรียน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง