วันนี้ (19 ธ.ค.2562) กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลการศึกษา ระบุปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 51 มาจากการขนส่งและการคมนาคม โดยรถกระบะ มีสัดส่วนการปล่อยมลพิษมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 18.3 รองลงมาคือรถบรรทุก 16.3 และร้อยละ 9.1 มาจากรถบัส
ส่วนข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์สะสมปี 2561 พบว่า มีจำนวนรถโดยสารไม่ประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มากถึง 19,838 คัน คิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนรถโดยสารไม่ประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซลทั่วประเทศ
กรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการลดฝุ่น PM2.5 จากรถโดยสารไม่ประจำทาง เช่น การดูแลบำรุงรักษาการใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ส่งเสริมการใช้รถที่มีมลพิษต่ำ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จัดระบบการเดินทางร่วมกันสำหรับคนทำงานที่อยู่ในนิคมเดียวกัน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของรถโดยสารไม่ประจำทาง
นิคมฯ เดียวกัน ไปด้วยกัน
ตัวแทนภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมหารือ เห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดีและหลายมาตรการสามารถทำได้ทันที แต่การให้ใช้รถร่วมกันสำหรับโรงงานที่อยู่ในนิคมเดียวกัน อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัทผู้ให้เช่ารถภาคเอกชน ที่มีการบริหารจัดการและมาตรฐานที่แตกต่างกัน
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า มาตรการที่เลือกใช้ช่วงเผชิญเหตุ มีการจัดลำดับความสำคัญจากข้อมูลที่มีการศึกษา และการร้องเรียนของประชาชน ส่วนมาตรการในระยะยาว เช่น การพัฒนาระบบโครงข่ายการคมคมให้เชื่อมต่อกัน ก็เป็นแผนในระยะยาวที่ให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาทั้งมาตรฐานรถยนต์และน้ำมันรถยนต์ ซึ่งหลายมาตรการได้มีดำเนินการไปก่อนหน้านี้
รถขนส่งมวลชนจำนวน 3,005 คัน เปลี่ยนมาใช้น้ำมัน B20 และก๊าซธรรมชาติแล้ว ช่วยลดความเข้มข้นของปริมาณฝุ่นต่ำกว่าร้อยละ 40 ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน และยังมีแผนการตรวจวัดควันดำต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.พ.63
ยังไม่ปรับเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่น
สำหรับแผน “ปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ” หรือ Action Plan เพื่อแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จะมี 3 มาตรการหลัก ๆ คือ การยกระดับประสิทธิภาพการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ การป้องกันและลดมลพิษที่ต้นทาง และการปรับปรุงระบบบริหารจัดการมลพิษ โดยเฉพาะการจัดการฝุ่นที่ต้นทางด้านการขนส่งและคมนาคมนั้น แผนปฏิบัติการมีการระบุไว้หลายแนวทาง
เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน การควบคุมการนำเข้ารถเก่าเครื่องยนต์เก่า การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า การเพิ่มทางเลือกและสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมปลอดมลพิษ การจำกัดรถเข้าเมือง รวมทั้งกำหนดมาตรฐานและควบคุมในการระบายมลพิษ
ส่วนการแจ้งเตือนปริมาณค่าฝุ่น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จำเป็นต้องแจ้งเตือนในระดับที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร และยืนยันว่า ได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ตามแผนจะมีการปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตรเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ในอนาคต ทั้งนี้ ต้องพิจารณาตามโครงสร้างพื้นฐานและสภาพสังคมด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันแรก คพ.ลดใช้รถส่วนตัวทุกพุธ แก้ปัญหาช่วงฝุ่นควัน
กทม.ฝุ่น PM2.5 ยังเกินมาตรฐาน สูงสุดริมถนนพหลโยธิน