วันนี้ (18 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ไปยังสถานีอารีย์ ตามแนวทางที่ระบุไว้ใน “มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง” ในช่วงที่กรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ เริ่มมีปริมาณค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปกติแล้ว ตนต้องเดินทางไปประชุมหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่วันนี้เป็นวันแรกที่กรม ฯ ได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ราว 500 คน ให้งดการใช้รถส่วนตัว ซึ่งทั้งกรมฯ มีรถยนต์ส่วนบุคคล อยู่ 168 คัน
แม้การดำเนินการนี้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการรับรู้และสื่อสารไปยังประชาชน รวมถึงทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เห็นความสำคัญ
เราในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ก็อยากให้เห็นถึงความพยายามของการแก้ไขปัญหาว่าเราได้ทำทุกทาง และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกคนที่หันมาช่วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษหลายคน ที่เคยเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างเช่น น.ส.อมรรัตน์ ผิวอ่อน เจ้าหน้าที่พัฒนาระบบบริหาร กรมควบคุมมลพิษ อาศัยอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เธอบอกว่าปกติ จะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเพราะบ้านอยู่ไกล แต่วันนี้หันมาใช้รถโดยสารสาธารณะตามมาตรการของกรมฯ การเดินทางก็สะดวกเพราะมีรถไฟฟ้าและยังประหยัดเวลามากขึ้นจากเดิม ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่วันนี้เพียง 50 นาทีเท่านั้น ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีการนี้ สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่หากจะเห็นผลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปด้วย
เชื่อว่าวิธีนี้แก้ปัญหาได้ และการเดินทางรถไฟฟ้าก็สะดวกมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว
น.ส.อมรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเริ่มต้นลดการใช้รถส่วนตัวของหน่วยงานของรัฐ เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จริง ๆ เรามีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นแล้ว แต่คำถามคือ จะมีการขับเคลื่อน ไปสู่ การแก้ปัญหา ได้มากน้อยแค่ไหน
ด้าน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวยืนยันอีกว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแผนดังกล่าวแล้ว เช่น การตรวจจับควันดำจากต้นทาง รถขนส่งมวลชนกรุงเทพ 3,500 คัน เปลี่ยนมาใช้น้ำมัน B20 และก๊าซช่วยลดการปล่อยควันดำมากขึ้น การคืนพื้นผิวจราจรจากการก่อสร้างร้อยละ 80 แต่บางแนวทางยังอยู่ในระหว่างการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป เช่น การจำกัดการวิ่งของรถบรรทุกบนถนนวงแหวนรอบนอกในช่วงที่เผชิญวิกฤต
ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามแผนและอำนาจหน้าที่ของตัวเองแล้ว แต่บางมาตรการก็ยังอยู่ระหว่างการหารือ และดูว่ามาตรการนั้นจะสามารถลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดได้จริงหรือไม่
สำหรับ "แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้แผนนี้ จะมี 3 มาตรการหลัก ๆ คือ การแก้ปัญหาระดับพื้นที่ การลดมลพิษที่ต้นทาง และ การปรับปรุงระบบบริหารจัดการมลพิษ โดยแต่ละมาตรการ มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า มีบางแนวทางอยู่ระหว่างการหารือ
ส่วนการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยืนยันว่า กรุงเทพมหานคร จะสามารถติดตั้งได้แล้วเสร็จทั้ง 50 เขตภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนต่างจังหวัด จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ที่จะมีการเร่งดำเนินการเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.ฝุ่น PM2.5 ยังเกินมาตรฐาน สูงสุดริมถนนพหลโยธิน