ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่มีการเพาะปลูกอ้อยเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เกือบ 800,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีเกษตรทั้งพาราควอตและไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืช
จากการพูดคุยกับเกษตรกรต่างรับรู้ว่าสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ แต่บางส่วนยอมรับว่ายังไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเข้ารับการอบรม และทดสอบความรู้ในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้นำท้องถิ่น ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้มาให้คำแนะนำใด ๆ
ก็เห็นมีข่าวว่าให้ไปอบรม แต่ที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่มีใครมาแจ้ง ปกติถ้ามีการบังคับว่าต้องทำ ต้องมีประกาศเสียงตามสาย นัดประชุม สร้างความเข้าใจเกษตรกร จะได้รู้ทำยังไง แต่ตอนนี้ไม่มีข้อมูลเหล่านี้
ได้ยินมาเหมือนกัน แต่ไม่มีการแจ้งเป็นทางการ เราไม่รู้หรอกไปอบรมสอบยังไง อีกอย่างที่บอกว่าต้องให้เกษตรกร หรือผู้ฉีดพ่นสารสวมใส่ชุดป้องกันที่รัดกุมเพื่อความปลอดภัย บ้านเรามันอากาศร้อน ใส่แบบนั้นไม่ไหว และถามหน่อยว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกรต้องซื้อชุดแบบนั้นอีก ยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่
ภาค ปชช.มอง มาตรการรัฐ ทำเกษตรกรยึดติดสารเคมี
ด้านนายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ซึ่งกำลังดำเนินโครงการส่งเสริม ลด ละ เลิก ใช้สารเคมีเกษตรในพื้นที่ ระบุว่า การดำเนินมาตรการให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัย เคยดำเนินการมาแล้ว ที่ผ่านมาบริษัทสารเคมีเคยนำชุดป้องกันสำหรับใช้ฉีดพ่นสารเคมีมาแนะนำเกษตรกรเพราะเขาเองก็ต้องการจำหน่ายสารเคมี แต่ในทางปฏิบัติ เกษตรกรไม่สามารถทำได้ ด้วยบริบท และสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมเหมือนกับในประเทศเขตหนาว
นอกจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความเข้าใจในการปฏิบัติของเกษตรกร ผู้ปลูกอ้อยรวมทั้งพืชอีก 5 ชนิด ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ ทำให้มีเกษตรกรบางส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อบรม ทดสอบ เพื่อให้ได้ใบรับรอง ทั้งฉีดพ่น และไปซื้อสารเคมีในปริมาณที่กำหนดตามมาตรการจำกัดการใช้แล้ว
ยังเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติสำหรับร้านขายสารเคมี ซึ่งพบว่า ขณะนี้ร้านจำหน่ายสารเคมีเอง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้ ที่กำหนดให้ขายสารเคมี 3 ชนิด เฉพาะกับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบเท่านั้น ไม่ต่างจากกรณีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบว่าบางร้านยังขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ
ยกตัวอย่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ห้ามร้านค้าจำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตรงนี้ก็อาจจะมีร้านที่ยึดจริยธรรมอยู่บ้าง แต่เรื่องของสารเคมี เป็นเรื่องยากที่จะทำตาม เป็นเรื่องธุรกิจ เรื่องตัวเงิน ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่มีใครจะปฏิเสธการซื้อขายแน่นอน ที่พูดคุยกับผู้ค้าสารเคมีบางราย ยังไม่รู้เรื่องมาตรการนี้เลยด้วยซ้ำ ใครมาถามหาซื้อ เขาก็ขายให้หมด
นายนพดล ระบุว่า การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นผู้ตรวจสอบเกษตรกร และผู้รับจ้างฉีดพ่นสารเคมีเกษตรก็เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และไม่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม เพราะต้องนึกถึงฐานเสียงในพื้นที่ และจะเกิดความอลุ่มอล่วยกัน ที่สำคัญการจะเอาผิดก็ต้องมีผู้ร้อง แล้วใครจะมาร้องเรียน ว่าร้านค้าทำผิด เพราะเป็นความต้องการของทั้งผู้ซื้อผู้ขาย
ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้จัดการมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ เห็นว่า เป็นช่องว่างของการดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ ที่จะไม่นำไปสู่การลด ละ เลิก การใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดเพื่อนำไปสู่การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และเกษตรยั่งยืนได้จริงตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ เพราะทำให้เกษตรกรยังคงยึดติดกับการพึ่งพาและใช้สารเคมีเกษตร
เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ลั่น เข้มงวดเอาผิด หากพบฝ่าฝืน
นายบุญมี แท่นงาม เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ บอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้มีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับร้านขายสารเคมีเกษตรใน จ.นครสวรรค์กว่า 390 ร้าน ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร รวมถึงเกษตรกรให้ทราบถึงแนวปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งคาดหวังว่าร้านค้าสารเคมีเกษตรจะให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม แต่หากพบการฝ่าฝืนจำหน่ายให้เกษตรกรหรือผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่มีหลักฐานชัดเจน ก็จะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะนี้มีเกษตรกรรวมถึงผู้รับจ้างพ่นสารเคมีเกษตรที่ขึ้นทะเบียนอบรม ใน จ.นครสวรรค์ กว่า 8,600 คน และเข้ารับการทดสอบกว่า 15,000 คน ที่พบตัวเลขเข้ารับการทดสอบมากกว่าเข้าอบรม เพราะมาตรการนี้ให้เกษตรกรสามารถศึกษาหาความรู้ได้เอง หรือเป็นเกษตรกรที่ทราบแนวปฏิบัติอยู่แล้ว มาทดสอบได้โดยไม่ต้องผ่านการอบรม ซึ่งพบว่าผู้ที่เข้าสอบผ่านการทดสอบทั้งหมด
แต่ยอมรับว่าอาจจะมีเกษตรกรบางส่วนที่ตกหล่นไม่ได้เข้าสู่ระบบ เนื่องจากในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์หรือลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ เกษตรกรบางส่วนอาจเข้าไปในไร่ในสวน ดังนั้นส่วนส่งเสริมการเกษตร ก็จะเดินหน้าในการอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรต่อไป