คนในชุมชนดอนแก้ว จ.เชียงราย 200 ครัวเรือน ต้องเผชิญกับมลพิษจากบ่อขยะบนภูเขาขนาด 3 ไร่ มานานถึง 15 ปี ทั้งน้ำสกปรกจากขยะในช่วงหน้าฝน ไหลลงนาข้าว และพื้นที่การเกษตร รวมถึงแหล่งน้ำของหมู่บ้าน กลิ่นเน่าเหม็น และแมลงวัน ที่คาดว่าเป็นสาเหตุให้คนในหมู่บ้านเกิดท้องร่วงเป็นประจำ
ส่วนในฤดูแล้งจะมีการลักลอบเผากองขยะ จนเกิดฝุ่นควันคลุ้งไปทั่ว เพราะบ่อขยะแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่สามารถจัดให้มีระบบการจัดการแบบฝังกลบหรือระบบใดๆ ได้ จึงเป็นลักษณะการกองทิ้งแบบเปิดจนเกิดปัญหาดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปลี่ยนเมือง ! แฟลตคลองเตย ลดขยะกว่า 30% ใน 3 เดือน
“บิ๊กคลีนนิ่ง” กลยุทธ์หยุดจุดดูดขยะชุมชน
เปลี่ยน "ขยะ" เป็นสวัสดิการชุมชน ชวนลดจากต้นทาง
หักดิบ “ปลดถังขยะ 100%” จุดเริ่มแก้ขยะชุมชน
จัดการชุมชนตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างชุมชนอื่น
ดวงเดช แสนสล่า ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว ต.โรงช้าง อํ.ป่าแดด จ.เชียงราย เปิดเผยว่า บ่อขยะแห่งนี้รองรับขยะที่เทศบาลตำบลโรงช้าง เก็บมาจาก 12 หมู่บ้าน เดือนละประมาณ 4,000 กิโลกรัม เป็นขยะจากชุมชนบ้านดอนแก้ว เดือนละ 2,000 กิโลกรัม เพราะมีโรงงานผลิตปราสาท ที่ใช้ในพิธีศพตามประเพณีภาคเหนือถึง 2 แห่ง และชุมชนที่เหลือ 11 ชุมชน อีกเดือนละ 2,000 กิโลกรัม
ชุมชนต้องการขจัดผลกระทบให้หมดไปจึงตั้งเป้าหมายว่า จะต้องปิดบ่อขยะแห่งนี้ให้ได้ ซึ่งผู้นำชุมชนเห็นว่า ควรจัดการปัญหาในชุมชนตัวเองก่อน เพื่อให้เป็นตัวอย่างกับชุมชนอื่นๆ จึงตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันในโครงการสะอาดบุรี ปี 2 โดยได้รับคำแนะนำจากชุมชนบ้านโป่งศรีนคร จ.เชียงราย ซึ่งได้รับรางวัล zero waste ระดับประเทศมาแล้ว
ชุมชนดอนแก้วมีปัญหาด้านการจัดการขยะมานาน ถ้ายังปล่อยไว้แบบนี้ ในอนาคตมลพิษจากบ่อขยะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนแน่นอน ซึ่งมันเป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่ทำให้ชาวบ้านพร้อมที่จะมาจัดการขยะร่วมกัน
แยกคนสร้างขยะ สร้างสำนึกคนลดขยะ
ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว ระบุว่า การจัดการขยะในชุมชนดอนแก้วพุ่งเป้าไปที่การลดขยะจากแต่ละครัวเรือน ใช้วิธีการแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้นำขยะเข้าบ้านและสร้างขยะในครัวเรือน จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องให้คำแนะนำอย่างละเอียด ซึ่งผู้นำชุมชนและพี่เลี้ยงเข้าไปให้ความรู้ในการลดนำขยะถุงพลาสติกเข้าบ้าน และการคัดแยกขยะจากต้นทาง ซึ่งแบ่งเป็นขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ และขยะพิษ โดยขยะรีไซเคิลส่วนใหญ่จะเป็นขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ และอโลหะ ป็นขยะที่ขายเพื่อสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้
ส่วนขยะอินทรีย์จะทำเป็นปุ๋ย ทั้งที่บ้านและพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุ่งยากสำหรับชนบท และขยะพิษซึ่งมีจำนวนน้อยจะต้องคัดแยก เพื่อนำไปไว้ในกรงขยะพิษให้เทศบาลจัดการต่อไป
2.กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นฝ่ายจัดทำกรงสำหรับใส่ขยะแต่ละประเภท จากวัสดุเหลือใช้และวัสดุธรรมชาติ และเป็นผู้ช่วยคัดแยกขยะในครัวเรือน คัดแยกถุงพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วนำไปให้เทศบาลบดอัดเป็นแท่ง
3.กลุ่มเยาวชน ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะและการคัดแยกแล้ว ยังเป็นจิตอาสาร่วมกันเก็บขยะในชุมชนทุกวันอาทิตย์ พร้อมปลุกจิตสำนึก และทำให้ผู้ปกครองหันมาใส่ใจการจัดการขยะด้วย
4.กลุ่ม อสม. เก็บข้อมูล สถิติการคัดแยกขยะแต่ละครัวเรือน โดยมี อสม.ทั้งหมด 21 คน จัดเก็บข้อมูลคนละ 8-9 ครัวเรือน เพื่อไปตรวจสอบ ชั่งน้ำหนักขยะ และตรวจสอบแต่ละครัวเรือนว่ามีการคัดแยกขยะหรือไม่ พร้อมให้คำแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง
นอกจากแบ่งกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีการตกลงร่วมกันประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา คือ ทุกครัวเรือนจะต้องแยกขยะและใส่ในถังคัดแยกเท่านั้น เพื่อขายให้รถที่เข้ามารับซื้อไปรีไซเคิล ต้องไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด หากพบบ้านหลังใดทิ้งขยะไม่เป็นที่จะถูกปรับครั้งละ 100 บาท หากบ้านไหนไม่คัดแยกขยะตามกฎ จะแจ้งเตือนทุกสัปดาห์ที่มีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากตักเตือนแล้ว 1 ครั้งยังไม่คัดแยกอีก ก็จะมีมาตรการขั้นเด็ดขาด คือจะไม่รับรองสวัสดิการต่างๆ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว เป็นต้น
ความเข้มของมาตรการนี้สูงขึ้นไปอีก เมื่อทางชุมชนขอให้เทศบาลตำบลโรงช้าง ออกเทศบัญญัติ กำหนดวิธีการทิ้งขยะและอัตราค่าจัดเก็บขยะใหม่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ขยะที่จะทิ้งต้องใส่ถุงใสเท่านั้น ถ้าพบว่ามีขยะเปียกหรือเศษอาหารและขยะอันตราย ทางเทศบาลจะไม่เก็บ และกำหนดให้ครัวเรือนทิ้งได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ถุง ขณะที่อัตราค่าจัดการขยะก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 10 - 900 บาท ตามน้ำหนักที่ทิ้ง
ส่วนโรงงานผลิตปราสาทที่ใช้ในพิธีศพ ที่จะมีวัสดุเหลือใช้เป็น ไม้ กระดาษและโฟม จำนวนมาก ทั้ง 2 โรงงานก็ออกแบบการผลิตใหม่ เป็นใช้กระดาษแทนโฟมได้เกือบทั้งหมด ตั้งเป้าว่าจะออกแบบการผลิตให้ใช้กระดาษแทนโฟมให้ได้ 100 % เศษวัสดุต่างๆ ที่เหลือใช้เป็นเศษเล็กเศษน้อย ก็นำกลับมาใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ขณะที่เศษกระดาษที่เหลือทิ้ง ก็แยกไว้ขายให้กับรถรับซื้อของรีไซเคิล
จากข้อมูลของ อสม.ชุมชนที่ออกชั่งขยะทุกครัวเรือน ทุกวัน พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. ขยะทั้งหมดลดลงจากเดือนละ 2,000 กิโลกรัม เหลือเพียงเดือนละ 20 กิโลกรัมเท่านั้น
รุกคืบข้อตกลง 12 หมู่บ้าน ตั้งเป้าปิดบ่อขยะ
นายดวงเดช ระบุว่า เมื่อชุมชนดอนแก้วลงมือทำแล้วได้ผลน่าพอใจ จึงได้เชิญผู้นำอีก 11 หมู่บ้าน มาร่วมหารือเพื่อให้ลดขยะของแต่ละชุมชน โดยลงนามข้อตกลงร่วมกัน มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า ขอความร่วมมือให้ทุกชุมชนคัดแยกขยะจากต้นทาง จากในครัวเรือนใส่ถุงขยะเฉพาะโดยไม่มีขยะอินทรีย์และขยะอันตราย เพื่อให้เทศบาลตำบลโรงช้างจัดเก็บและขนไปทิ้งที่บ่อขยะได้ต่อไป หากชุมชนใดไม่ทำตามข้อตกลง ก็จะไม่ยอมให้รถขยะของเทศบาล ผ่านชุมชนดอนแก้วเข้าไปทิ้งที่บ่อขยะอีกได้
ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะชุมชนเห็นผลต้องยอมรับว่า มาจากการให้ความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน เพราะทุกคนเห็นถึงปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลาน และหวังว่าจะปิดบ่อขยะอย่างถาวรได้ในวันข้างหน้า