ขยะที่หลากหลายจำนวนมาก กับคนเมืองหลวง ดูเหมือนเป็นของคู่กัน ยิ่งสังคมซับซ้อน ต้องการความสะดวก รวดเร็วมากขยะก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น และดูเหมือนเป็นไปได้ยากที่สภาพเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกสูงจะจัดการกับขยะได้ง่าย แต่ชุมชนแฟลต 23-24 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ กลับลดปริมาณขยะได้เกือบ ร้อยละ 35 ในเวลาเพียง 3 เดือน
“ขยะ” กองโตจากพฤติกรรมคนเมือง
ชุมชนแฟลต 23-24 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ที่มีผู้คนพักอาศัยรวมกว่า 1,200 คน บนตึกสูง 5 ชั้น 2 หลัง คนในแฟลตครึ่งหนึ่งเป็นคนดั้งเดิม แต่อีกครึ่งเป็นห้องเช่า มีการย้ายเข้า-ออก ตลอดเวลา การประชาสัมพันธ์เรื่องการคัดแยกขยะที่ทำมานานแล้ว จึงได้ผลไม่เต็มที่ เพราะคนที่อยู่เดิมจะรู้ว่าชุมชนมีการคัดแยกขยะ แต่คนที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่อาจจะยังไม่รู้ ทำให้ความร่วมมือจึงไม่เกิดขึ้นทั้งหมด ปริมาณขยะจึงยังมีมากถึง 660 กิโลกรัมต่อวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หักดิบ “ปลดถังขยะ 100%” จุดเริ่มแก้ขยะชุมชน
“บิ๊กคลีนนิ่ง” กลยุทธ์หยุดจุดดูดขยะชุมชน
เปลี่ยน "ขยะ" เป็นสวัสดิการชุมชน ชวนลดจากต้นทาง
“ดอนแก้ว” จับมือ 11 ชุมชน ตั้งกฎลดขยะ ตั้งเป้าปิดบ่อขยะ
น.ส.นฤมล คำนนท์ หนึ่งในคณะกรรมการชุมชน เล่าว่า แฟลต 23-24 มีปล่องทิ้งขยะอยู่ที่มุมตึกทุกชั้น หากทิ้งลงมาด้านล่าง จะเป็นห้องรองรับขยะได้ราว 1,000 กิโลกรัม ทั้งถุงพลาสติก ขวดน้ำ เศษอาหาร ถูกใส่ถุงมัดรวม โดยไม่มีการคัดแยก ทุกอย่างถูกโยนจากปล่องทิ้งขยะ ลงมากองรวมไว้ด้านล่างตึก ใน 1 สัปดาห์ รถขยะวิ่งเข้าออก ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ทุกครั้งขนขยะเต็มคันรถ
“นี่คือสิ่งที่เราเห็นมาตลอดหลายปี และคิดกันว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเห็นพนักงานเก็บขยะ ต้องคัดแยกอีกครั้ง ก่อนที่จะจัดเก็บและนำไปกำจัด ทั้งที่ขยะบางชนิด สามารถนำไปขายได้ หากมีการคัดแยกอย่างถูกวิธี ถูกประเภท การกำจัดก็จะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระของคนที่นำไปกำจัด” น.ส.นฤมลกล่าว
ดึงชุมชนร่วมมือ ร่วมเปลี่ยนแปลง
น.ส.นฤมล เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 3 เดือนก่อนว่า ชุมชนแฟลต 23-24 ได้เข้าร่วมโครงการ ชุมชนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน “สะอาดบุรี ปี 2” ซึ่งเป็น โครงการที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธาณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนได้มีการจัดการกับปัญหาขยะอย่างประสิทธิภาพ โดยมีชุมชนเกาะกลาง เป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลปลอดขยะ มาเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา ให้ข้อมูล วางแนวทางการทำงาน กับชุมชนน้องใหม่ นำสิ่งที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ มาต่อยอดให้ชุมชนน้องใหม่ เพื่อเดินหน้าไปสู่ชุมชนปลอดขยะร่วมกัน
น.ส.นฤมล เล่าว่า เริ่มต้นโครงการด้วยการสร้างการรับรู้ให้คนในตึกช่วยกันแยกขยะ ทั้งวิธีประกาศผ่านเสียงตามสาย เดินไปเคาะประตูบ้าน อธิบายให้ฟัง ให้คำแนะนำ แจกเอกสาร สร้างความเข้าใจในการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกวิธี ให้เด็กๆ เยาวชนในตึก เข้ามาช่วยกิจกรรมทำความสะอาด เป็นการปลูกฝังวิธีคิดให้การจัดการขยะด้วย
และตั้งถังรองรับขยะแต่ละประเภทไว้ให้ที่ปากปล่อง สำหรับใส่ขยะที่แยกแล้ว โดยมีทั้งถังทิ้งกระดาษ พลาสติก แก้ว ขยะอันตราย ขยะทั่วไป ส่วนขยะเปียก ก็ให้ทิ้งลงปล่องได้เหมือนเดิมเพราะข้อจำกัดของชุมชนเมืองยากต่อการจัดการขยะเปียก
น.ส.นฤมล กล่าวว่า ตอนแรกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนก็ยังทิ้งขยะรวมกัน โดยเฉพาะถังที่ให้ทิ้งขยะทั่วไป จะมีขยะทุกประเภท เพราะคิดว่ามันคือ ขยะทั่วไป กรรมการชุมชนจึงปรับกลยุทธ์ใหม่ ที่คิดจากพฤติกรรมของคนเมืองให้เริ่มต้นทำสิ่งที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วก่อน คือ แยกขยะ เฉพาะที่เป็นขยะแห้ง รีไซเคิลได้ 1 ถัง และขยะอันตรายอีก 1 ถัง นอกนั้นขยะเปียกและอื่นๆ ให้ทิ้งลงปล่องได้
ถังขยะรีไซเคิล เราจะแยกหลายถังยาก สำหรับคนในชุมชน เราเลยให้แยกแค่นี้พอ จากนั้นกรรมการชุมชนก็เก็บเอาขยะรีไซเคิลมาแยกประเภทเพื่อขายอีกที คราวนี้คนในชุมชนก็เห็นว่าง่ายดี ก็ทำได้ เพราะเขาจะแยกเฉพาะขยะแห้งกับขยะเปียกเท่านั้น แห้งก็ใส่ถัง เปียกก็ทิ้งปล่อง แค่นี้เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว และต้องยอมรับว่าชุมชนตึกสูงอย่างเรา คงไม่สามารถจัดการขยะเปียกได้ เพราะเราไม่มีพื้นที่
“ตอนนี้หลายคนรู้แล้วว่า ขยะรีไซเคิลมีมูลค่า ทุกคนเริ่มเก็บ นำไปขาย ถือว่าเป็นการช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง ในอนาคตเรามีแผนที่จะตั้งธนาคารขยะ รับซื้อขยะจากคนในชุมชน ชุมชนรอบข้าง แล้วให้ร้านรับซื้อที่ขายให้กันเป็นประจำมารับซื้อ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องนำไปขายข้างนอก”
นอกจากนี้ ก็มีการรณรงค์ร้านค้าที่อยู่ภายในอาคารให้ลดการให้ถุงพลาสติก เมื่อมาซื้อของใช้ เพราะเพียงแค่ถือกลับไปที่ห้องเท่านั้น
ใครห้องอยู่ใกล้ๆ เราจะบอกให้หิ้วของกลับบ้านไปเลย ทั้งน้ำมัน น้ำปลา ผงซักฟอก ก็หิ้วกลับ ช่วยลดขยะได้เยอะ
3 เดือน ขยะลดลงกว่า 30% ทำแล้ว หยุดไม่ได้
เมื่อเข้าโครงการสะอาดบุรี สำนักงานเขตคลองเตยก็เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลขยะรายวัน พบว่า เพียง 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.2562) ที่ชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ เห็นได้ชัดว่า ขยะในชุมชนลดลงจาก 660 กิโลกรัมต่อวัน เหลือเพียงวันละ 430 กิโลกรัม หรือ 34.85 %
(ภาพประกอบ : ขยะก่อน และหลัง )
น.ส.นฤมล กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในชุมชนเห็นถึงสิ่งที่ทำ ทั้งปริมาณขยะที่ลดลง ชุมชนสะอาดน่าอยู่ ในระยะยาว หวังว่าชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คนเก็บขยะยังพูดเลยว่าดีขึ้น เพราะเมื่อก่อนในปล่องที่ถูกทิ้ง มีทั้งเข็มฉีดยา ขวดแก้ว หลอดไฟ หลังๆ ก็ไม่เห็นแล้ว เพราะว่าเขารู้ เขาก็จะนำมาทิ้งจุดที่เราเตรียมไว้ เมื่อก่อนหลอดไฟไม่ใช้น้อย ทั้งสเปรย์ หลอดไฟ 40-50 หลอด
ทุกวันนี้ เราขึ้นไปสำรวจถังที่ชาวบ้านนำขยะมาทิ้ง เห็นเขาคัดแยกให้ก็ดีใจนะ ขยะในถังก็ลดลงก็ยิ่งดีใจ เพราะจะเป็นการช่วย กทม. ไปอีกทางหนึ่ง