ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบสินค้าสารเคมีเกษตร ก่อนถูกยกเลิกใช้

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 62
19:06
786
Logo Thai PBS
ตรวจสอบสินค้าสารเคมีเกษตร ก่อนถูกยกเลิกใช้
โค้งสุดท้ายก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุม 27 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณามติแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส ซึ่งอาจจะชะลอไปก่อน เพราะต้องจัดการสารในสต็อกทั้งในมือผู้ค้าและเกษตรกร

หลังจากคณะกรรมการวัตุอันตรายมีมติแบนสารเคมีแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดอันได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเอกสารด่วนให้กับร้านจำหน่ายสารเคมี เพื่อตรวจสอบจำนวนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่คงเหลือ

นายปราโมทย์ ธงชัย เจ้าของร้านจำหน่ายเคมีเกษตร อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตั้งแต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมี เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา และให้มีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ จะทำไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อร้านค้า เกษตรกร ที่ซื้อสารดังกล่าวมาแล้ว แต่เกิดจากการแบนแบบกะทันหันดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นควรเป็นของรัฐ

 

 

ความกังวลที่เกิดขึ้น ทำให้ร้านจำหน่ายบางแห่งชะลอการซื้อสินค้าเข้า และบางแห่งเก็บสินค้าออกจากตู้แม้ขณะนี้ยังไม่มีการแบน แต่เกษตรกรยังซื้อได้หลังร้านและแจ้งสต็อกที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อตัดปัญหา

แต่ก็มีบางร้านที่ยังคงจำหน่ายต่อไป เพราะไม่ชัดเจนว่าจะแบนหรือไม่ ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร กำหนดให้การรายงาน สต็อกถี่ขึ้น จากวันที่ 15 พ.ย. ให้รายงานอีกครั้ง 25 พ.ย. ซึ่งร้านค้าหลายแห่งยังมีสต็อก ไม่สามารถระบายได้ทันตามกำหนด

เช่นเดียวกับ เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่ระบุว่า ยังมีสต็อกสารเคมีบางส่วนอยู่ในมือที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่หมด เพราะต้องเลื่อนการจำกัดวัชพืชเพื่อรอหว่านปุ๋ยออกไปเนื่องจากขาดน้ำ ไม่ใช่การซื้อมาเพื่อกักตุน และเห็นว่ารัฐควรจะชะลอการแบนออกไปก่อนเพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการรองรับ สารทดแทนที่มีราคาและคุณสมบัติใกล้เคียงสารเดิม

 

 

ส่วนการใช้งบเยียวยาเกษตรกรใน 6 พืช หลักที่สูงกว่า 30,000 ล้านนั้น นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องนำเงินงบประมาณมาใช้อย่างสิ้นเปลือง แต่รัฐควรให้เวลากับทุกส่วนเพื่อเปลี่ยนผ่านการยกเลิกใช้ 3 สาร หรือชดเชยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด กรมวิชาการเกษตร รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้งที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน

ทั้งนี้ ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะใช้วีธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่วันที่ 1 ธ.ค. แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจการนุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง