วันนี้ (22 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมอุตสาหกรรมเกษตร 9 แห่งที่ใช้เคมีเกษตร 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติการยกเลิกการใช้
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ระบุว่า กระบวนการยกเลิกเคมีเกษตรขัดหลักการและผิดขั้นตอนมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีผลการศึกษาใหม่ รวมทั้งการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หากออกประกาศให้เคมีเกษตรดังกล่าว จากเดิมวัตถุอันตราย ประเภทที่ 3 เป็นประเภท 4 ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในพืชและสัตว์ ทั้งสินค้านำเข้าและส่งออก จากเดิมกำหนดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร เหลือไม่เกินร้อยละ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ
พร้อมระบุว่า นักกการเมืองในรัฐบาลชุดนี้แทรกแซงการทำงานของข้าราชการมากที่สุด จึงขอให้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศ ไม่ใช่หวังแค่ฐานเสียงทางการเมือง
กรุณาอย่าคำนึงถึงแต่เสียงที่จะได้รับความชื่นชมไม่ว่าจากฝ่ายไหนก็ตาม ขอให้คำนึงว่าท่านเป็นตัวแทนประชาชน ขอให้พิจารณาประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ประโยชน์ของพรรคท่านก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอันดับแรก
ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยืนยันจะออกประกาศฯ ระงับการใช้เคมีเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. จะเห็นภาพโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการใช้พืชที่ใช้เคมีเกษตรดังกล่าว ทยอยหยุดรับซื้อผลผลิต ปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงานที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
เนื่องจากการยกเลิกเคมีเกษตร จะรวมไปถึงการใช้ การนำเข้า และส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการ ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้ราคาไก่สดอาจเพิ่มขึ้นถึงตัวละ 300 บาท และยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าสารเคมีและใช้อย่างไม่ได้มาตรฐาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมวิชาการเกษตรชงเลื่อนจัดการสต๊อก 3 สารเคมีอีก 6 เดือน
423 เสียงสภาฯ จุดเปลี่ยนการเมืองเรื่อง สารเคมีเกษตร