หลังได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน ใช้เวลาศึกษานานกว่า 3 เดือน มีทั้งการเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ และเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงข้อมูล ในที่สุด คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็จัดทำ “รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม” แล้วเสร็จ และเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมเมื่อวันที่ 20 และ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 423 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เป็นมติเอกฉันท์
ยืนยันยุติสารเคมี 3 ชนิด
เนื้อหาในรายงานระบุว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ การผลิตทางการเกษตรมีปริมาณการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ส่งผลต่ออัตราผลิตภาพทางการผลิตทางการเกษตรในเชิงบวก ในทางตรงกันข้าม ยังทำให้ศัตรูพืชปรับตัวต้านทานสารเคมีเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในสินค้าอาหารเป็นจำนวนมาก จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ ขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงของสังคมจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
เพื่อแก้ไขปัญหา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ 10 ข้อ โดยสรุปด้าน 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแรก ยืนยันให้รัฐบาลยุติการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยเร่งด่วน แต่ไม่เห็นด้วยที่นำสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน แต่ควรทดแทนด้วยสารชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลการเกษตรที่ประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม พร้อมเสนอให้จัดตั้ง กองทุนเยียวยาและดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนที่สอง เสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนประเทศ ไปสู่ เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการเพิ่มและขยายพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยให้กำหนดเป็นวาระชาติ มีการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อน และกองทุนต่างๆ มาสนับสนุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กองทุนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำระดับครัวเรือน กองทุนเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรม
ส่วนที่สาม เสนอให้มีการสนับสนุน และปลดล็อคเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก ลดขั้นตอนและกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ให้ง่ายขึ้น ผลักดันตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร จัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ ไปจนถึง การสร้างห้องปฏิบัติตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรที่นำเข้า และผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศในระดับกลุ่มจังหวัด รวมถึง การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้
ส่วนงานนิติบัญญัติ เสนอให้เกิดมีการปรับปรุงและผลักดันกฎหมาย อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ..... เพื่อพัฒนากลไกกฎหมายรองรับในระยะยาว
มติสะท้อนเสียงประชาชน
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มองว่า มติดังกล่าวมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นฉันทานุมัติของสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงมติด้วยเสียงท้วมท้น โดยไม่มีการคัดค้าน เพื่อเห็นชอบว่า ประเทศไทยต้องยุติสารพิษร้ายแรง และเดินหน้าไปสู่การสร้างประเทศให้เป็นเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืน 100 % อีกทั้ง ยังสะท้อนคุณภาพของสภาฯ ที่ไม่ได้ต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เท่านั้น
นี่ถือว่าเป็นมติสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เป็นสิ่งที่สภาผู้แทนมีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มตินี้สะท้อนเสียงเรียกร้องของประชาชน และเขาก็ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องนั้นในรูปของการลงมติ
นายวิฑูรย์ เห็นว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่แล้ว หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ร่วมทั้งทุกพรรคการเมืองที่ร่วมในการลงมติครั้งนี้ ที่ต้องร่วมกันติดตาม และผลักดันให้ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง
ข่าวเกี่ยวข้อง
กรมวิชาการเกษตรชงเลื่อนจัดการสต๊อก 3 สารเคมีอีก 6 เดือน