การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ
ถ้ามองจากฐานการผลิต ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถรายใหญ่ของอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ก็ไม่น่าจะยากที่จะใช้ต้นทุนไปต่อยอด และเดินตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2559 ที่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า
ตัวเลขการผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 9,606 คัน เป็น 20,204 คัน ในปี 2561 แม้เป็นสัญญาณที่ดี แต่ปรากฏว่าร้อยละ 70 ยังอยู่ในตระกูลรถยนต์ไฮบริด ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยเองยังมีส่วนน้อย ส่วนที่เห็นวิ่งอยู่บนท้องถนนส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนเนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า
ภาคเอกชนประเมินว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาพฝันการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ EV ไปไม่ถึงไหนทั้งที่ไทยมีต้นทุน ทั้งเรื่องการผลิตรถยนต์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น การขยายสถานีชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังน้อยเกินไป จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการในการสนับสนุน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยขณะนี้มี 5 ประเทศหลักที่ประเทศไทยส่งออกรถยนต์มากที่สุด คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่า นโยบายของรัฐไทยยิ่งต้องจริงจังกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะหมายถึงการรักษาฐานการผลิต และการส่งออกที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ
รถยนต์ไฟฟ้า หนึ่งโจทย์สำคัญแก้ฝุ่น PM 2.5 ในเมือง
การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องเศรษฐกิจไทยในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกรถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีโจทย์อื่น ๆ ที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน นั่นคือ มลพิษทางอากาศ
เดิมรถยนต์ไฟฟ้าถูกวางอยู่บนฐานของการเปลี่ยนพลังงาน จากน้ำมันที่เป็นพลังงานแบบใช้แล้วหมด ไปเป็น พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลกยุคใหม่ แต่ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกปี ได้กลายเป็นปัจจัยคุกคามใหม่ที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าถูกพูดถึงมากขึ้น
โดยรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกบรรจุไว้ในมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางด้านการจราจร ตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยกำหนดให้ทุกหน่วยราชการ ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถราชการเก่า ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 รวมถึงให้กำหนดมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ ภายใน 2562 - 2564 โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ล่าสุด กระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบด้วยการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ หามาตรการครอบคลุมผู้บริโภค การผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ กำหนดอัตราค่าชาร์จไฟฟ้า และเพิ่มเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเตรียมจะนำเสนอนโยบายต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กลางเดือนธันวาคม และคาดว่าจะชัดเจนต้นปี 2563
แม้การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในมาตรการป้องกันฝุ่นที่ต้นทางที่ต้องมีมากกว่า แต่ถ้าดูจากประโยชน์ที่จะได้รับตั้งแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการผลิตและส่งออกรถยนต์ ไปจนถึงการแก้วิกฤตฝุ่น ก็คงต้องถามรัฐบาลอีกครั้งว่า มีอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้เรื่องนี้เดินหน้าได้ช้า