วันนี้ (14 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ประสบความสำเร็จในแง่ความสนใจ กลายเป็นชื่อติดหู ทั้งลุ้นเวลาลงทะเบียนและใช้เงินเพลินกับครอบครัว ที่รัฐบาลหวังว่าจะทำให้ประชาชนใช้เงินจับจ่ายมากกว่าที่แจก แต่ที่ทำมาต่อเนื่องจนถึงเฟส 3 ทำให้มองเห็นผลลัพท์ที่ไม่ตรงกับที่รัฐต้องการจากโครงการ
ชิมช้อปใช้ ในเฟสแรก คือแจกเงินให้ไปท่องเที่ยวนอกภูมิลำเนา ผ่านการลงทะเบียนตอนเที่ยงคืน จำนวน 10 ล้านคน รับเงิน 1,000 บาท และเพิ่มเงินไปใช้จ่ายจริงจากการท่องเที่ยวไม่เกิน 30,000 บาท มารับเงินคืนเงินได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท กระแสยอดจองครบแบบถล่มทลายเรียกความสนใจ จนต้องทำต่อในเฟส 2 ปรับเวลาลงทะเบียนใหม่ ให้ได้เพิ่มอีก 3 ล้านคน
และล่าสุด คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบเฟส 3 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เพิ่ม 2 ล้านคน กันสิทธิ์ไว้ให้ผู้สูงอายุ 500,000 คน เฟสล่าสุดนี้ไม่แจกเงิน 1,000 บาท เหมือนก่อนหน้านี้ แต่จะให้สิทธิ์การใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 และขยายขอบเขตการใช้ 50,000 บาท และซื้อแพ็กเกจทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหารและที่พักได้ รวมถึงใช้ได้ทุกจังหวัด
ยอดใช้จ่าย "ชิมช้อปใช้" มาจากงบฯ รัฐสูงถึง 94%
สำหรับยอดการใช้จ่าย ชิมช้อปใช้ ตั้งเเต่เริ่มโครงการจนถึงวันที่ 9 พ.ย. มียอดใช้เเล้วรวมกว่า 11,720 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเงินที่มาจากงบประมาณรัฐเกือบทั้งหมดคือเงิน 1,000 บาทที่แจก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 94 เปอร์เซ็นต์ และคนควักกระเป๋าจ่ายเองเพื่อใช้สิทธิ์เงินคืนแค่ 735 ล้านบาท หรือ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ชิมช้อปใช้ มีผู้ได้รับสิทธิ์ตลอดโครงการ 3 ระยะ มากถึง 15 ล้านคน แต่ควักเงินจ่ายเองน้อยมาก ซึ่งทาง อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าคนไม่ควักเงินมาใช้เพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีการแจก 1,000 บาท เหมือนเป็นการช่วยค่าครองชีพมากกว่า และคนอีกส่วน มีเงินแต่ไม่กล้าใช้ มาตรการนี้จึงทำได้แค่บรรเทาเศรษฐกิจ
ไม่ต่างจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยประคองให้ผู้มีรายได้น้อยพอมีเงินใช้จ่าย แต่ไม่ใช่จ่ายเพิ่ม ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกระตุ้นการจับจ่ายหลายรอบ ที่ประกาศไปแล้วในช่วงต้นปี คือลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าท่องเที่ยวเมืองหลักไม่เกิน 15,000 บาท เมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท ซื้อสินค้าโอท็อปอีกไม่เกิน 15,000 บาท ต่อจากชิมช้อปใช้ ก็เสริมด้วยการขายสินค้าท่องเที่ยว 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย เมื่อต้นสัปดาห์นี้ และมีต่อเนื่องในเดือนหน้า รวมถึงโครงการวันธรรมดาราคาช็อกโลกอีกส่วนหนึ่ง
นักเศรษฐศาสตร์แนะลดภาษีเงินได้กระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยและเศรษฐกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย และนายอมรเทพ จาวะลา เห็นตรงกันว่าถ้าอยากกระตุ้นการใช้จ่ายให้เห็นผล ต้องมองกลุ่มที่มีเงิน แต่ไม่ยอมควักออกมาใช้ แนวทางหนึ่งที่เป็นได้ คือการลดภาษีเงินได้ อาจทำแบบชั่วคราวในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอ ตัว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้อยู่ในระบบภาษี 12 ล้านคน มี 3-4 ล้านคนที่ต้องจ่าย เชื่อว่าหากลดภาษีลงกลุ่มนี้จะใช้เงินมากขึ้น เช่นเดียวกับนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 35 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 21 เปอร์เซ็นต์ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 2.6 เปอร์เซ็นต์ ให้ค่าลดหย่อนเพิ่มส่งผลจีดีพีสหรัฐฯ เพิ่มจาก 2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่รัฐบาลต้องพิจารณาการจัดเก็บรายได้ภาพรวม เงินในคลังให้ดีไม่ให้มีปัญหา
ส่วนการส่งออก การลงทุนเอกชน มีปัญหาจากปัญหาจากสงครามการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามช่วยเรื่องดอกเบี้ยและบาทแข็ง การกระตุ้นการบริโภคทำมาพอสมควร อีกจุดหนึ่งที่ภาครัฐจะทำได้ คือการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ทำได้ต่ำเป็นสัดส่วนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งหมด แต่การใช้เงินที่ผ่านมา รัฐบาลเทเงินลงไปอย่างโครงการชิมช้อปใช้ ก็เกิน 10,000 ล้านบาทไปแล้ว บางส่วนจำเป็น แต่ถ้าทำมากไป จะถูกมองว่าเป็นการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ละส่วนต้องใช้เวลาถึงจะเริ่มเห็นผล ถ้ามองว่าการจับจ่ายยังไม่พอทำให้เศรษฐกิจกระเตื้อง รัฐต้องเร่งลงทุนเอง และใช้จ่ายไปกับโครงการที่ทำให้สร้างงานสร้างรายได้มากขึ้น